(เพิ่มเติม) รมว.คลัง ระบุไทยยังขาดเครื่องมือดูแลความเสี่ยงจากความผันผวนตลาดเงินโลก

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 9, 2007 19:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

        นายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ รมว.คลัง ระบุว่า ประเทศไทยซึ่งถือเป็นประเทศที่มีรายได้ในระดับกลางยังขาดเครื่องมือที่ใช้ดูแลความเสี่ยงจากความผันผวนของตลาดเงินโลก รวมถึงขาดผู้เชี่ยวชาญที่จะดูแลปัญหา ดังนั้นเมื่อเกิดปัญหาเงินทุนไหลเข้าแม้จะไม่มากแต่กลับส่งผลกระทบอย่างมากต่อทั้งตลาดหุ้นไทย รวมทั้งภาคอสังหาริมทรัพย์
"คนที่อยู่ในระบบเศรษฐกิจของไทย จึงมีปัญหาว่าถ้าเกิดความผันผวนมาก เราไม่ค่อยมีเครื่องมือที่จะใช้ดูแลความเสี่ยงจากความผันผวน ภาคธุรกิจก็มีปัญหา และผู้ที่อยู่ในระบบเศรษฐกิจก็ยังมีความเชี่ยวชาญน้อยที่จะดูแลความเสี่ยงที่เกิดขึ้น" รมว.คลัง กล่าวต่อที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)
รมว.คลัง ยืนยันว่า แม้ไทยจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเผชิญกับความผันผวนจากตลาดเงินโลก แต่จะต้องหามาตรการเข้ามาดูแลเพื่อลดความเสี่ยงและลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศให้ได้ โดยในวันที่ 20 ส.ค.นี้กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)จะร่วมกันหารือถึงแนวทางการพัฒนาเครื่องมือและระบบการจัดการที่จะมาใช้ในการดูแลอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อให้มีความเข้มแข็งเพียงพอที่จะรองรับความผันผวนจากตลาดโลกที่มีแนวโน้มจะมีต่อไปอีกในระยะยาว
ปัญหาเรื่องเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมาถือเป็นประเด็นใหญ่ที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องร่วมกันแก้ไข โดยเห็นว่าธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ในฐานะธนาคารกลางไม่ควรจะมีอิสระในการกำหนดเป้าหมายนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนหรือนโยบายการเงิน
"เรื่องนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนหรือนโยบายการเงิน มีความละเอียดอ่อนระหว่างการที่รัฐบาลจะเข้าไปแทรกแซงกับการที่ธนาคารกลางจะมีอิสระในการบริหาร IMF ให้ความสำคัญสูงกับการเป็นอิสระของธนาคารกลาง และความเป็นอิสระนั้น คืออิสระในเชิงการปฏิบัติ แต่ไม่ได้หมายความว่าเป็นอิสระในการเลือกเป้าหมายของนโยบาย" รมว.คลัง กล่าว
รมว.คลัง กล่าวว่า นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนที่เหมาะสมของไทย คือจะต้องปรับเปลี่ยนอย่างค่อยเป็นค่อยไป และมีความยืดหยุ่น แต่ขณะเดียวกันจะต้องมีกรอบเป้าหมายในใจที่สะท้อนกับความเป็นจริง แต่อย่างไรก็ดีนโยบายจะต้องสร้างความไม่แน่นอนในระดับหนึ่ง แต่ในเวลาเดียวกันต้องดูแลไม่ให้เกิดความผันผวนหรือเกิดการเดินทางเดียวมากเกินไป เพราะจะทำให้นักเก็งกำไรเข้ามาหาประโยชน์ได้
"อัตราแลกเปลี่ยนต้องไม่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเกินไป สามารถขึ้นลงได้ รวมทั้งมีกรอบเป้าหมายอยู่ในใจที่สะท้อนความเป็นจริง...อัตราแลกเปลี่ยนมีความซับซ้อนและผันผวนมาก หากทางการมีแนวโน้มชัดว่าจะเดินไปทางไหน มันจะมีโอกาสจะได้ประโยชน์กันอย่างมหาศาลในเวลาไม่นาน" รมว.คลัง กล่าว
นายฉลองภพ เห็นว่า เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมากอย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมาไม่ใช่การแข็งค่าอย่างผิดธรรมชาติ แต่เป็นการแข็งค่าในระดับที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นเพราะธปท.เข้าไปแทรกแซงน้อย และปล่อยให้เงินบาทเคลื่อนไหวตามความเป็นจริงมากเกินไป
"มาเลเซีย ปีนี้เงินทุนสำรองครึ่งปีแรกเพิ่มขึ้น 35,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เงินไหลเข้าเท่าไร ธนาคารกลางของเขาก็ซื้อเกือบหมด ของเราเองที่ผ่านมาทุนสำรองเพิ่มขึ้นประมาณ 12,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งน้อยกว่ากันเยอะ ตรงนี้อธิบายได้ว่าทำไมเราถึงแข็งค่ากว่ามาเลเซีย แต่เราไม่ได้แข็งกว่าเมื่อเทียบกับทุกประเทศ" รมว.คลัง กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ