นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.ได้กำหนดแนวทางการจ่ายเงินปันผลประจำปี 2563 โดยพิจารณาจากแผนบริหารจัดการเงินกองทุนและผลประเมิน stress test ของสถาบันการเงิน ในช่วงปี 2563-2565 พบว่าสถาบันการเงินยังคงมีเงินกองทุนและเงินสำรองเพียงพอรองรับสถานการณ์เลวร้ายจากการระบาดของโรคโควิด-19
ประกอบกับสถาบันการเงิน ได้เพิ่มความระมัดระวังด้วยการทยอยตั้งสำรองและสะสมเงินกองทุนเพิ่มเติมมาโดยตลอด ทำให้ระบบธนาคารพาณิชย์มีอัตราการกันเงินสำรองถึง 1.5 เท่าของสินเชื่อด้อยคุณภาพ และมีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) ที่ 19.8% ณ ไตรมาส 3 ปี 2563 เพิ่มขึ้นจาก 19.2% ในไตรมาส 2 ปี 2563
ขณะที่อัตราเงินสำรองที่มีอยู่ ต่อ NPL (NPL coverage ratio) ที่ 149.7% จากไตรมาส 1 ปี 2563 ที่ 143% อัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อรองรับกระแสเงินสดที่อาจจะไหลออกในภาวะวิกฤต (LCR) 184.9% จากเป้า 100% และอัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝาก (L/D ratio) 93%
นายรณดล กล่าวว่า ในระยะข้างหน้า สถานการณ์ยังคงมีความไม่แน่นอนสูง ธปท.จึงเห็นควรมีมาตรการเชิงป้องกัน โดยให้สถาบันการเงินสามารถจ่ายเงินปันผลจากผลการดำเนินงานของปี 2563 ได้ไม่เกินอัตราการจ่ายในปี 2562 และต้องไม่เกิน 50% ของกำไรสุทธิของปี 2563 สอดคล้องกับแนวทางของผู้กำกับดูแลสถาบันการเงินต่างประเทศหลายแห่ง ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้น ผู้ฝากเงิน และลูกหนี้ของสถาบันการเงินในระยะยาว
นโยบายดังกล่าว จะช่วยให้ระบบสถาบันการเงินไทยเข้มแข็ง รักษาระดับเงินกองทุนให้อยู่ในระดับสูงได้อย่างต่อเนื่อง มีกันชนรองรับความไม่แน่นอนที่อาจจะเกิดขึ้น พร้อมเป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายหลังสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 คลี่คลายลง
ส่วนการจ่ายปันผลในปี 2564-2565 นั้น รองผู้ว่าการ ธปท. ระบุว่า สถาบันการเงินจะต้องให้ ธปท. พิจารณาและวางหลักเกณฑ์อีกครั้ง