กกร.ยังไม่เสนอทางแก้บาทแข็งเพิ่ม ใช้เวลา 2-3 เดือนประเมินผลมาตรการเดิม

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 6, 2007 10:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)กล่าวว่า ภาคเอกชนจะยังไม่เสนอมาตรการแก้ไขปัญหาจากการแข็งค่าของเงินบาทเพิ่มเติมอีกในระยะนี้ โดยคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือนในการประเมินผลมาตรการที่นำออกมาใช้ก่อนหน้านี้
อย่างไรก็ตาม จากที่เอกชนได้ประเมินผล 6 มาตรการที่ออกมาในเบื้องต้นส่งผลให้ค่าเงินบาทไม่ผันผวนมาก และเริ่มอ่อนค่าลงมาในระดับหนึ่ง จากที่กังวลกันว่าค่าเงินบาทจะไปถึง 32-33 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ
สำหรับการจัดตั้งกองทุนเสริมสภาพคล่อง SME ขนาด 5 พันล้านบาทคาดว่าจะเริ่มปล่อยกู้ให้กับผู้ประกอบการได้ในสัปดาห์หน้า หากที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภาพรวมเห็นชอบกับหลักเกณฑ์การปล่อยกู้ที่เป็นข้อสรุปจากคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.)ในวันนี้
นายสันติ กล่าวว่า กกร.จะหารือกันในช่วงเที่ยงนี้เกี่ยวกับหลักเกณฑ์การปล่อยเงินกู้ให้กับกองทุน SME ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาเงินบาทแข็งค่าและการขาดสภาพคล่อง รวมถึงประเมินผล 6 มาตรการที่ภาครัฐออกมาเพื่อแก้ปัญหาเงินบาทแข็งค่า
ประธานส.อ.ท.กล่าวว่า ภาคเอกชนมีข้อสรุปในเบื้องต้นแล้วจากการหารือร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) โดยเงินกองทุน 5,000 ล้านบาท จะแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนแรก 4,500 ล้านบาท จะคิดอัตราดอกเบี้ย MLR -2.25% เพื่อช่วยเหลือ SME ที่ทำธุรกิจส่งออกไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม โดยไม่จำเป็นต้องเป็นสมาชิกของสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยหรือ ส.อ.ท.เพียงแต่ต้องแสดงหลักฐานการซื้อขายและการส่งออกที่ชัดเจน
และเงินกองทุนส่วนที่เหลืออีก 500 ล้านบาทนั้น จะคิดอัตราดอกเบี้ย MLR +1% เพื่อช่วยเหลือ SME ที่เป็น NPL
"เราคุยกับแบงก์พาณิชย์แล้ว และตกลงกับแบงก์ชาติแล้วว่าจะผ่อนปรนให้ เราเห็นใจพวกที่เป็น NPL ไม่งั้นพอเวลาขาดสภาพคล่องแล้วจะไปกู้เงินกับธนาคารลำบาก เราเลยขอพิเศษให้" นายสันติ กล่าวในรายการวิทยุเช้านี้
นายสันติ กล่าวด้วยว่า การประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ วันนี้ นอกจากจะมีประเด็นพิจารณาหลักเกณฑ์การใช้เงินกองทุนเพื่อช่วยเหลือ SME แล้ว จะเป็นการประเมินผล 6 มาตรการแก้ปัญหาเงินบาทแข็งค่า และคาดว่ากระทรวงพาณิชย์จะเสนอการวางนโยบายส่งเสริมผู้ประกอบการไทยที่จะไปลงทุนในต่างประเทศด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ