ซิตี้กรุ๊ปกล่าวว่า ธุรกิจธนาคารในอินโดนีเซียยังคงน่าดึงดูดใจแม้มีความเสี่ยงด้าน repricing (repricing risk คือความเสี่ยงที่เกิดจากความแตกต่างของระยะเวลาการกำหนดอัตราดอกเบี้ยใหม่สำหรับสัญญาที่มีอัตราดอกเบี้ยลอยตัว และอายุของสัญญาที่มีอัตราดอกเบี้ยคงที่) ในตลาดเงินทั่วโลก และภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐที่ซบเซาลงซึ่งได้รับผลกระทบจากวิกฤติตลาดซับไพรม์ในสหรัฐ
"เราเชื่อว่าภาวะเศรฐกิจสหรัฐที่ซบเซาอันเนื่องจากผลกระทบของตลาดซับไพรม์นั้น จะส่งผลกระทบเพียงเล็กน้อยต่อธุรกิจการเงินของอินโดนีเซีย เนื่องจากเศรษฐกิจอินโดนีเซียได้รับแรงขับเคลื่อนจากปัจจัยภายในประเทศเป็นหลัก" นายสเตฟาน ฮาสจิม นักวิเคราะห์จากซิตี้กรุ๊ปกล่าว
ยอดส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐคิดเป็นสัดส่วนโดยเฉลี่ย 12% ของยอดส่งออกทั้งหมดของอินโดนีเซียในช่วงระหว่างปี 2539-2543 หรือคิดเป็นสัดส่วนเท่ากับ 3% ของตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP)
นายฮาสจิมกล่าวว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจปรับลดอัตราดอกบี้ยเพื่อแก้ไขวิกฤตการณ์ตลาดสินเชื่อ และมีความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางอินโดนีเซียจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยตาม ซึ่งจะช่วยให้ธนาคารพาณิชย์ในอินโดนีเซียสามารถเพิ่มวงเงินกู้ให้กับประชาชน
ทั้งนี้ ซิตี้กรุ๊ประบุว่า แบงค์แร็คแยท์ อินโดนีเซีย และแบงค์ดานามอน อินโดนีเซีย เป็นธนาคารพาณิชย์ที่ให้มีการดำเนินการแข็งแกร่งที่สุดแม้ต้องเผชิญความเสี่ยงในบางด้าน นอกจากนี้ ธนาคารทั้งสองแห่งมีอัตราการปล่อยกู้ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและมีกลไกที่ดีในการป้องกันตัวเองจากการแข่งขัน สำนักข่าวธอมสัน ไฟแนนเชียลรายงาน
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย วณิชชกร ควรพินิจ/รัตนา โทร.0-2253-5050 ต่อ 327 อีเมล์: ratana@infoquest.co.th--