นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ขอขอบคุณข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์อย่างมากจากเอกอัครราชทูต 5 ประเทศ ประกอบด้วย เอกอัครราชทูตออสเตรเลีย เอกอัครราชทูตอังกฤษ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่น เอกอัครราชทูตเยอรมนี และเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ที่เสนอในเวทีเสวนาผ่านสื่อมวลชน ทุกข้อเป็นประโยชน์ต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศจากผลกระทบโควิด-19 อีกทั้งยังสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ได้ดำเนินการอยู่
ทั้งนี้ ทุกเรื่องจะรับไปพิจารณา และมีหลายเรื่องที่ได้ดำเนินการแล้ว ซึ่งจะพัฒนาให้ดีขึ้นอีกเพื่อครอบคลุมภาคส่วนต่างให้มากขึ้น อาทิ การขับเคลื่อนสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลและปฏิรูประบบราชการ ขณะนี้ส่วนราชการได้ลดขั้นตอนและระยะเวลา กว่า 523 ใบอนุญาต ลดสำเนาเอกสารราชการกว่า 1,212 รายการ ให้บริการรูปแบบ e-Services กว่า 280 บริการ และลดค่าธรรมเนียมที่ต้องจ่าย ลดภาระประชาชน 392,050,315 บาท ในส่วนของการพัฒนาระบบศุลกากร ทางกรมศุลกากรมีจัดตั้งระบบ National Single Window : NSW ทำหน้าที่เป็นระบบกลางในการเชื่อมโยงข้อมูลแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียวของประเทศ เป็นการเชื่อมโยง ข้อมูลแบบบูรณาการระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศ โดยมีเป้าหมายสาคัญในการอำนวยความสะดวกในกระบวนการนาเข้า ส่งออก และโลจิสติกส์ของประเทศไทย
ส่วนประเด็นอื่น อาทิ เรื่องการยกระดับฝีมือแรงงาน ก็เป็นแนวทางเดียวกับรัฐบาลที่มุ่งเน้นเรื่องพัฒนาทักษะแรงงานให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมกรรมใหม่ (หุ่นยนต์ ดิจิทัล เชื้อเพลิง/เคมีชีวภาพ การแพทย์ครบวงจร การบินและโลจิสติกส์) เรื่องปฏิรูปกฏหมาย รัฐบาลได้ดำเนินการภายใต้ พ.ร.บ.หลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ.2562 โดยคณะกรรมการพัฒนากฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้รับผิดชอบหลักร่วมกับส่วนราชการอื่น ๆ เพื่อยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่ไม่จำเป็นและเป็นภาระประชาชน พร้อมเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น
นางสาวรัชดา กล่าวย้ำว่า ความปรารถนาดีของเอกอัครราชทูตที่มีต่อประเทศไทย นับเป็นการแสดงถึงมิตรภาพที่มีต่อกัน อีกทั้งยังเป็นข้อมูลที่ให้เห็นว่า ภาคเอกชนของประเทศทั้งห้านั้นให้ความสนใจที่จะมาทำการค้าและการลงทุนในไทย และเห็นศักยภาพของประเทศที่จะเติบโตในระยะยาว ประเด็นข้อเสนอใดที่เป็นเรื่องใหม่จะรับไปพิจารณา ประเด็นที่ดำเนินการไปแล้วก็อาจต้องใช้เวลาสักระยะกว่าระบบจะเสร็จสมบูรณ์
อนึ่ง เช้านี้หนังสือพิมพ์รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ เอกอัครราชทูต 5 ประเทศ ประกอบด้วย ออสเตรเลีย , อังกฤษ , ญี่ปุ่น , เยอรมนี และสหรัฐอเมริกา ได้ร่วมเสวนาโต๊ะกลมกับสื่อมวลชนเพื่อเน้นย้ำมาตรการที่ไทยสามารถใช้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังการระบาดของโรคโควิด-19 ได้แบบเร่งด่วน ตลอดจนปรับสภาพแวดล้อมในการประกอบธุรกิจให้ง่ายขึ้นและดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามามากขึ้น โดยข้อแนะนำด้านนโยบายเหล่านี้พัฒนาขึ้นจากข้อคิดเห็นของบริษัทกว่า 3,700 แห่งที่เป็นสมาชิกหอการค้าในไทยของทั้ง 5 ประเทศ
สำหรับข้อเสนอแนะ 10 ข้อ ได้แก่ 1.ทำให้ระบบของหน่วยงานศุลกากรง่ายขึ้นและนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยเพื่อให้การนำเข้าสินค้าสามารถทำได้ง่ายและรวดเร็วมากขึ้นและมีต้นทุนที่ถูกลง 2.จัดตั้งพิธีการศุลกากรตามระบบบัญชีที่สามารถระบุความเสี่ยงและทำให้ระบบประมวลภาษีศุลกากรทันสมัย 3. ดำเนินโครงการทบทวนการอนุญาตของทางราชการ ทบทวนกฎและระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำจัดความซ้ำซ้อน 4.เพิ่มแพลตฟอร์มรูปแบบรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ 5.ให้ลดความซับซ้อนในการสมัครขอรับการส่งเสริมการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)
6.สร้างสภาพแวดล้อมเพื่อเดินหน้าสู่การค้าดิจิทัล 7.ปฏิรูปข้อกำหนดที่เข้มงวดเกี่ยวกับแรงงานฝีมือชาวต่างชาติ และลดขั้นตอนขอวีซ่าสำหรับแรงงานฝีมือ 8.เน้นความสำคัญของความโปร่งใสเพื่อคลี่คลายข้อพิพาท 9.ปรับปรุงกระบวนบังคับคดีล้มละลาย 10.เพิ่มกระบวนการดิจิทัลในการอนุมัติขององค์การอาหารและยาออกเอกสารแบบดิจิทัล และรับลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์ หากทำได้ทั้งหมดนี้เชื่อว่าไทยจะมีค่าดัชนีชี้วัดของธนาคารโลกที่ดีขึ้น และนักลงทุนก็จะหันมาสนใจยิ่งกว่าชาติอื่น ๆ ในภูมิภาค