กรมวิชาการเกษตร เตรียมเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณายกเลิกครม.เมื่อ 3 เม.ย.ที่ห้ามการทดลองปลูกพืชตัดแต่งพันธุกรรม(GMO)ในระดับไร่นา โดยให้ทำการวิจัยและทดลองได้เฉพาะในโรงเรือนและห้องปฏิบัติการเท่านั้น เพื่อให้ได้ผลงานวิจัยที่สมบูรณ์นำไปสู่การพัฒนางานวิจัยพืช GMO ให้ก้าวหน้าทัดเทียมกับต่างประเทศ ทั้งสหรัฐ ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย และ แคนาดา ที่มีการวิจัยเรื่องนี้อย่างกว้างขวาง
นายอดิศักดิ์ ศรีสรรพกิจ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ขณะนี้กำลังเร่งจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับการวิจัยและพัฒนาพืชดัดแปลงพันธุกรรมในประเทศไทย เพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ซึ่งปัจจุบันการทดลองวิจัยในประเทศมีข้อจำกัดที่สามารถทำได้เพียงในโรงเรือนและห้องปฏิบัติการเท่านั้น
จากข้อมูลเบื้องต้นพบว่าในระยะ 11 ปีที่ผ่านมา มูลค่าการตลาดสินค้าพืช GMO ทั่วโลกขยายตัวเพิ่มขึ้นจาก 200 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี เป็น 6,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี และคาดว่าภายในปี 2553 จะมีประเทศที่ปลูกพืช GMO มากกว่า 30 ประเทศทั่วโลก โดยพืช GMO ที่สำคัญ ได้แก่ ถั่วเหลือง ข้าวโพด ฝ้าย มันฝรั่ง และ มะละกอ
ทั้งนี้ หาก ครม. อนุญาตให้ทดลองปลูกพืช GMO ในภาคสนามได้ก็จะดำเนินการทันที ซึ่งกรมฯ มีแผนจะทำการวิจัยในพืชที่ไม่ใช่อาหาร โดยจะจัดลำดับการวิจัยพืช GMO โดยเลือกพืชที่มีความสำคัญ อาทิ ปาล์มน้ำมัน และกล้วยไม้
--อินโฟเควสท์ โดย ฐานิสร์ ทองนอก/ศศิธร/รัชดา โทร.0-2253-5050 ต่อ 317 อีเมล์: rachada@infoquest.co.th--