EXIM BANK คาดศก.ปี 64 โตตาม New Normal แนะเร่งบุกตลาดที่ฟื้นดันส่งออกโต

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 16, 2020 10:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปี 63 ได้สร้างผลกระทบในหลายมิติอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน มิติเศรษฐกิจ เศรษฐกิจและการค้าโลกมีแนวโน้มหดตัวสูงสุดในรอบเกือบศตวรรษนับตั้งแต่ Great Depression ส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับลดลงต่ำสุดในรอบกว่า 2 ทศวรรษ ตลาดหุ้นทั่วโลกผันผวนและต้องหยุดการซื้อขายชั่วคราวมากที่สุด มิตินโยบาย รัฐบาลและธนาคารกลางทั่วโลกพร้อมใจกันใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทั้งนโยบายการเงินและการคลังที่มีมูลค่าสูงกว่าวิกฤตเศรษฐกิจทุกครั้งที่ผ่านมา มิติสังคม เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรม ได้แก่ การเว้นระยะห่างทางสังคม เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งเข้ามาปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจ ทำให้หลายภาคธุรกิจปรับตัวไม่ทันและปิดกิจการลงเป็นจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจโลกกำลังจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว โดยมีสัญญาณกระเตื้องขึ้นนับตั้งแต่ไตรมาส 3/63 เป็นต้นมา ทั้งการผลิต การบริโภค การจ้างงาน และการส่งออกที่เริ่มหดตัวน้อยลง ล่าสุดกองทุนระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจและการค้าโลกปี 64 จะกลับมาขยายตัวได้ที่ 5.2% และ 8.3% ตามลำดับ แม้จะยังมีความไม่สมดุลและเปราะบางค่อนข้างสูง เหมือน "รถที่กำลังจะ U-turn" ซึ่งจะทำได้ดีหรือเร็วแค่ไหน ขึ้นอยู่กับอัตราการเร่งของเครื่องยนต์ น้ำมันเชื้อเพลิง ทัศนวิสัย และความสามารถของผู้ขับขี่ หรือเปรียบได้กับความรวดเร็วในการพัฒนาวัคซีน นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ ความชัดเจนในนโยบายของผู้นำคนใหม่ของสหรัฐฯ และความสามารถในการรับมือกับสถานการณ์ของผู้ประกอบการหรือภาคธุรกิจ

EXIM BANK คาดการณ์ว่า การส่งออกของไทยจะเติบโตได้สูงถึง 4% ในปี 64 เป็นผลจากเศรษฐกิจและการค้าโลกฟื้นตัวจากฐานที่ต่ำ หรือ ติดลบ -10% ในระยะสั้น แม้ยังไม่เท่ากับระดับเดิมในปี 62 และยังคงชะลอตัวภายใต้บริบทและข้อจำกัดระหว่างประเทศที่เพิ่มมากขึ้น ประกอบกับโอกาสของผู้ส่งออกไทยในการส่งออกไปยังตลาดใหม่ (New Frontiers) ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 น้อยกว่า ทำให้ฟื้นตัวเร็วกว่าอีกหลายประเทศทั่วโลก

ทั้งนี้ IMF คาดการณ์ว่า จาก 195 ประเทศ/ดินแดน จะมี 60 ประเทศ/ดินแดน หรือเพียง 1 ใน 3 ของทั้งหมด ที่มูลค่า GDP ในปี 64 สูงกว่าหรือเท่ากับปี 62 สะท้อนถึงกำลังซื้อของผู้บริโภคและความต้องการนำเข้าสินค้าของตลาดเหล่านี้มีแนวโน้มกลับสู่ภาวะปกติ ซึ่งในบรรดาประเทศ/ดินแดนเหล่านี้ ตลาดที่เป็นตลาดส่งออก 20 อันดับแรกของไทย ได้แก่ จีน มาเลเซีย อินโดนีเซีย CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม) เกาหลีใต้ และไต้หวัน สินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปตลาดเหล่านี้ ได้แก่ สินค้าอุตสาหกรรมประเภท เม็ดพลาสติก น้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว สินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปประเภทผลไม้สด ยางพารา น้ำตาลทราย ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และเครื่องดื่ม

นายพิศิษฐ์ กล่าวว่า หัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและภาคการส่งออกของไทยในปี 64 ได้แก่ ความสามารถของผู้ประกอบการไทยในการปรับตัวให้ได้ในโลกธุรกิจที่ปรับโฉมใหม่หลังโควิด-19 กล่าวคือ เมื่ออุปสงค์ในประเทศกระเตื้องขึ้น โดยเฉพาะการบริโภคและการท่องเที่ยวภายในประเทศ ประกอบกับมาตรการกระตุ้นของภาครัฐเพื่อเพิ่มกำลังซื้อและบรรเทาภาระหนี้ให้แก่ภาคประชาชน การบริโภคและการลงทุนภาครัฐกลับมาเดินเครื่องอีกครั้ง ผู้ส่งออกไทยปรับตัวได้ดีในการผลิตและส่งออกสินค้าที่มีความหลากหลายและทนต่อแรงเสียดทานได้ดี อาทิ การปรับปรุงรูปแบบผลิตภัณฑ์หรือเปลี่ยนวิธีการทำตลาดให้เหมาะสมกับผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อลดลง เช่น ปรับดีไซน์เครื่องประดับ ซึ่งเป็นสินค้าที่มีราคาค่อนข้างสูง ให้มีราคาจำหน่ายที่จับต้องได้ รวมทั้งสามารถสร้างสมดุลระหว่างตลาดหลักและตลาดใหม่ได้ดี จนทำให้ภาคการส่งออกหดตัวน้อยลง

ล่าสุดตัวเลขส่งออกของไทยเดือน ก.ย.63 หดตัวเหลือ 3.9% ซึ่งเป็นการหดตัวต่ำสุดในรอบ 5 เดือน ขณะที่ตัวเลขส่งออก 9 เดือนแรกปี 63 หดตัว 7.3% ดีกว่าคู่แข่งหลายประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และอินเดีย ประกอบกับหากนายโจ ไบเดน ได้เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 46 จะทำให้เกิดการเปลี่ยนทิศทางการดำเนินนโยบายการค้าการลงทุนของสหรัฐฯ ในหลายมิติ เนื่องจากนายไบเดนไม่สนับสนุนสงครามการค้า (Trade War) สนับสนุนการลงทุนพลังงานสะอาด มีนโยบายขึ้นภาษีเงินได้นิติบุคคลและบุคคลธรรมดา และเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งจะผลักดันให้เกิดการย้ายฐานการลงทุนออกจากสหรัฐฯ มากขึ้น สวนทางกับแนวนโยบายของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ทำให้บรรยากาศการค้าโลกมีท่าทีผ่อนคลาย จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยที่ปรับตัวได้ให้สามารถเข้าถึงโอกาสใหม่ ๆ ทางธุรกิจ

นายพิศิษฐ์ กล่าวว่า EXIM BANK ได้เตรียมความพร้อมที่จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและคาดไม่ถึงอยู่เสมอ เมื่อเกิดวิกฤตโควิด-19 เราจึงมีความพร้อมในการทำหน้าที่ช่วยเหลือ เยียวยา และฟื้นฟูธุรกิจส่งออกได้ทันที ควบคู่กับการส่งเสริมการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและบริหารความเสี่ยงทางการค้าระหว่างประเทศให้แก่ผู้ส่งออกไทย ทั้งความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนและความเสี่ยงจากการไม่ได้รับชำระเงินค่าสินค้าจากผู้ซื้อในต่างประเทศ ขณะเดียวกัน องค์กรยังเดินหน้าปรับเปลี่ยนบทบาทองค์กรครั้งใหญ่ (Transformation) ซึ่งส่งผลให้สามารถขยายยอดคงค้างเงินให้สินเชื่อได้ถึง 78% ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ควบคู่กับการพัฒนากระบวนการทำงาน โครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี และทรัพยากรบุคคล เพื่อให้รับมือและปรับตัวได้ทันต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป

EXIM BANK มีเป้าหมายที่จะเป็น "ธนาคารแห่งความยั่งยืน" มุ่งเน้นการบริหารจัดการการเงินและธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ การบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ผนวกรวมกับการบริหารความเสี่ยงอย่างทั่วถึงทั้งองค์กร และการกำกับดูแลกิจการที่ดีเพื่อความยั่งยืน ทำหน้าที่สนับสนุนการส่งออกและลงทุน โดยเฉพาะในตลาดใหม่ เพื่อช่วยให้ประเทศไทยก้าวพ้นการเป็นประเทศที่ติดกับดักรายได้ปานกลาง ให้ความรู้และพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ SMEs ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างเท่าเทียม

รวมทั้งเข้าถึงบริการให้คำปรึกษาแนะนำและโครงการอบรมสัมมนาของศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้าของ EXIM BANK (EXIM Excellence Academy : EXAC) โดยล่าสุด EXIM BANK ได้พัฒนาระบบประเมินความพร้อมผู้ส่งออกไทย (Thailand Export Readiness Assessment & Knowledge Management : TERAK) เพื่อประเมินความพร้อม วิเคราะห์ ประมวลผล และจัดทำรายงานให้คำแนะนำ จากนั้นจึงนำเสนอบริการสนับสนุนผู้ประกอบการอย่างตรงจุดและทันท่วงที สนับสนุนโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนและสมดุล

สำหรับในระยะยาว EXIM BANK สนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยพัฒนาสินค้าให้มีนวัตกรรมและมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น พร้อมปรับตัวให้เข้ากับสภาวะแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อาทิ การพัฒนาโลจิสติกส์และบรรจุภัณฑ์ให้เหมาะกับการค้าแบบ e-Commerce การผลิตสินค้าตอบรับกระแสความนิยมใหม่ ๆ และการนำระบบอัตโนมัติหรือหุ่นยนต์เข้ามาใช้ในภาคการผลิต การบริการ และการเงิน รวมทั้งการดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล เพื่อให้ธุรกิจเติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน แข่งขันในตลาดโลกได้ในระยะยาว

"โควิด-19 เกิดขึ้นและยังคงอยู่ เป็นผลให้รูปแบบวิถีชีวิต ตลอดจนการดำเนินธุรกิจเปลี่ยนโฉมไปอย่างมาก และทุกภาคส่วนต้องปรับตัวเองไปสู่วิถีชีวิตใหม่หรือ New Normal ยอมรับการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ และการเปลี่ยนแปลงของโลกให้ได้ จากนั้น จึงนำวิถีชีวิตใหม่นี้ไปกำหนดรูปแบบธุรกิจและสินค้าให้สอดคล้องกัน EXIM BANK ก็เช่นกัน ยังคงเดินหน้าปรับเปลี่ยนบทบาทองค์กร เพื่อตอบสนองความต้องการและความคาดหวังของลูกค้าและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ควบคู่ไปกับการบริหารจัดการองค์กรอย่างรับผิดชอบต่อสังคมท่ามกลางปัจจัยท้าทายต่าง ๆ เพื่อให้ EXIM BANK และเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมเติบโตอย่างยั่งยืนและสมดุลในระยะยาว" นายพิศิษฐ์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ