นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ได้ประกาศอัตราการขยายตัวผลิตภัณฑ์มวลรวมของไทยในไตรมาส 3 ปี 2563 ว่าเศรษฐกิจไทยหดตัวที่ -6.4% ต่อปี ซึ่งดีกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม และปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาส 2 ปี 2563 ที่หดตัว -12.1% ต่อปี และหากเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน เศรษฐกิจไทยขยายตัวระดับสูงที่ 6.5% ต่อไตรมาสหลังปรับผลของฤดูกาล แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดแล้ว
ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3 ปี 2563 ฟื้นตัวขึ้น ได้แก่ 1) การใช้จ่ายของรัฐบาลและการลงทุนภาครัฐขยายตัวเร่งขึ้นที่ 3.4% และ 18.5% ตามลำดับ (เมื่อปรับผลของฤดูกาลขยายตัวที่ 2.3% และ 6.3% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ตามลำดับ) โดยเป็นผลจากการเร่งเบิกจ่ายในครึ่งหลังของปีงบประมาณ และการขยายตัวทั้งการลงทุนในสิ่งก่อสร้างและเครื่องมือเครื่องจักร 2) การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคขั้นสุดท้ายของเอกชนหดตัวชะลอลงที่ -0.6% ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่หดตัวสูง -6.8% สะท้อนการบริโภคภาคเอกชนที่กลับมาอยู่ในระดับใกล้เคียงภาวะปกติ และ 3) การส่งออกสินค้าหดตัว -7.7% ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่หดตัว -15.9% โดยการส่งออกสินค้าไปยังตลาดสหรัฐฯ ขยายตัวได้ดี นำโดยสินค้าอุตสาหกรรมที่สำคัญ เช่น ปลากระป๋องและปลาแปรรูป ผลิตภัณฑ์ยาง อาหารสัตว์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น
"กระทรวงการคลังมั่นใจว่า เศรษฐกิจไทยจะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปี 2563 และสามารถกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้อีกครั้งในปี 2564 โดยกระทรวงการคลังจะพิจารณาปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2563 และ 2564 อีกครั้ง ณ สิ้นเดือนมกราคม 2564" นายพรชัยระบุ
สำหรับการดำเนินมาตรการในระยะต่อไป จะมุ่งเน้นการสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การรักษาระดับการจ้างงาน การเร่งรัดการใช้จ่ายของภาครัฐและรักษาเสถียรภาพการคลัง เพื่อสนับสนุนให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยมีความต่อเนื่องและยั่งยืน