นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ เปิดเผยในงานปาฐกถาพิเศษ "การประกาศความสำเร็จการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP)" ว่า มั่นใจว่า RCEP จะทำให้ไทยได้ประโยชน์อย่างยิ่ง ทั้งเรื่องการส่งออกสินค้า บริการ และการลงทุน โดยเฉพาะการสนับสนุนสินค้าของไทยที่มีจุดแข็งอย่างสินค้าเกษตร ให้บุกตลาดอีก 14 ประเทศได้ อย่างมันสำปะหลัง แป้งมัน ยางพารา ประมง อาหาร ฯลฯ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนวิสัยทัศน์ของรัฐบาลในการผลักดัน "อาหารไทยเป็นอาหารโลก" และทำให้ไทยก้าวสู่การเป็นผู้ส่งออกอาหารอันดับต้นๆ ของโลก และอันดับหนึ่งของโลกได้ในอนาคต จากปัจจุบันอยู่อันดับ 11 ของโลก
นอกจากนี้ ยังมีสินค้าอุตสาหกรรมที่จะได้ประโยชน์อีก เช่น อุปกรณ์ไฟฟ้า พลาสติก ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องแต่งกาย มอเตอร์ไซค์ รวมถึงภาคบริการและการลงทุน อย่างธุริจบริการก่อสร้าง ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับสุขภาพที่ไทยมีศักยภาพมาก รวมถึงธุรกิจคอนเทนต์ อย่าง ภาพยนตร์ แอนิเมชั่น เกมส์ เป็นต้น อีกทั้งความตกลงยังก่อให้เกิดความร่วมมือใหม่ๆ ระหว่างสมาชิก ซึ่งยังไม่มีในความตกลงการค้าเสรี (FTA) อาเซียน+1 เลย เช่น ทรัพย์สินทางปัญญา พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การแข่งขันทางการค้า การส่งเสริมและคุ้มครองวิสาหกิจขนาดกลางและเล็ก (SMEs) และความร่วมมือในการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ
นายจุรินทร์ ได้ฝากทุกภาคส่วนว่าหลังจากลงนามความตกลงไปแล้ว เราต้องเร่งเตรียมตัว และปรับตัว เพื่อรองรับความตกลงดังกล่าว เพราะมีเวลาอีกไม่เกิน 6 เดือนถึง 1 ปี เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ รวมถึงเร่งศึกษากฎระเบียบต่างๆ เพื่อให้ปรับตัวและใช้ประโยชน์ได้
โดยหลังจากนี้ทั้ง 15 ประเทศ ต้องทำ 2 เรื่อง คือ ทำให้อินเดียมีโอกาสเข้ามาร่วมมือใน RCEP ในอนาคต หลังจากมีการพักเจรจาชั่วคราว และสมาชิกทุกประเทศต้องเร่งให้สัตยาบัน เพื่อให้ความตกลงมีผลบังคับใช้ ซึ่งอาเซียนต้องให้สัตยาบันเกิน 5 ประเทศ บวกกับคู่เจรจาอีก 3 ประเทศเป็นอย่างน้อย รวมเป็น 9 ประเทศ
"การให้สัตยาบันของไทยนั้น คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 10 พ.ย.63 เห็นชอบให้ไทยให้สัตยาบันแล้ว ซึ่งผมจะเร่งผลักดันนำเรื่องนี้เสนอเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา เพื่อให้พิจารณาได้ทันประชุมสมัยนี้ ที่เริ่มเปิดประชุมเดือนพ.ย.63 -ก.พ.64 ถ้าผ่านความเห็นชอบ จะเข้าสู่กระบวนการให้สัตยาบัน ซึ่งไทยน่าจะเป็นประเทศแรกๆ ที่ให้สัตยาบันได้ เพื่อให้อาร์เซ็ปมีผลบังคับใช้ได้ภายในกลางปีหน้าเป็นต้นไป" นายจุรินทร์กล่าว
พร้อมยืนยันว่า ปัญหาการเมืองไทยในขณะนี้ ไม่กระทบต่อการเดินหน้ากระบวนการให้สัตยาบันแน่นอน เชื่อว่าทุกฝ่ายจะเห็นต่อผลประโยชน์ส่วนรวม เพราะหากไม่สำเร็จ ก็จะส่งผลกระทบทางการค้าของไทย
ด้านนางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า สำหรับผู้ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีภายใต้ RCEP นั้น ในความตกลงกำหนดให้แต่ละประเทศสามารถใช้มาตรการเยียวยาทางการค้าได้ ซึ่งไทยมีหลายมาตรการที่จะใช้ปกป้อง และลดผลกระทบให้กับผู้ประกอบการไทยได้ ทั้งมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน (เอดี/ซีวีดี) มาตรการปกป้องการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น (เซฟการ์ด) อีกทั้งยังมีกองทุนเพื่อการปรับตัวจากการเปิดเสรีทางการค้า (เอฟทีเอ) ทั้งในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่เกษตรกรและผู้ประกอบการจะสามารถใช้ได้ รวมถึงกองทุนเอฟทีเอ ที่กระทรวงพาณิชย์อยู่ระหว่างการจัดตั้งด้วย
"ขณะนี้ กรมฯ จะปรับปรุงระบบการเตือนภัยทางการค้าให้ทันสมัยมากขึ้น เพื่อติดตามสถานการณ์การค้า การนำเข้าสินค้าจากสมาชิก ขณะเดียวกัน ได้เริ่มหารือกับผู้ประกอบการในหลายกลุ่มสินค้า ที่เกรงจะได้รับผลกระทบจากการนำเข้าจากสมาชิก RCEP แล้ว เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งผู้ประกอบการแจ้งว่าหากรัฐจะใช้มาตรการเยียวยาทางการค้า ก็พร้อมให้ข้อมูลผลกระทบเต็มที่" นางอรมนกล่าว
โดยสินค้าที่ผู้ประกอบการของไทยเกรงจะได้รับผลกระทบ ส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าที่ไทยเปิดเสรีให้กับสมาชิก RCEP เพิ่มขึ้นจากที่เปิดเสรีในเอฟทีเออาเซียน+1 เช่น เปิดให้จีนเพิ่มเติมในสินค้าชิ้นส่วนและอุปกรณ์ไฟฟ้า ไฟติดหมวก, เปิดให้ญี่ปุ่นเพิ่มในสินค้า ชิ้นส่วนยานยนต์, เปิดให้เกาหลีเพิ่มสินค้าชิ้นส่วนยานยนต์ พัดลม เครื่องแต่งกาย สิ่งทอ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ความตกลงดังกล่าวจะมีการทบทวนทุก 5 ปี สำหรับการเปิดรับสมาชิกใหม่ กำหนดให้ความตกลงมีผลบังคับใช้ไปแล้ว 18 เดือน จึงจะเปิดรับสมาชิกใหม่ได้ ซึ่งที่ผ่านมา มีหลายประเทศแจ้งความประสงค์จะขอเข้าร่วม เช่น ฮ่องกง ไต้หวัน