ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาค ธนาคารกรุงเทพ มองภาพรวมอุตสาหกรรมสิ่งทอและรองเท้ายังไม่วิกฤติ ยกเว้นในส่วนของรองเท้ากีฬาและเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ส่อเค้าว่าใกล้ถึงจุดวิกฤติแล้ว โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการที่รับจ้างผลิตภายใต้ตราสินค้าของต่างชาติเป็นหลัก เนื่องจากต้องเผชิญกับปัจจัยลบรอบด้านที่สะสมมานาน
"การกล่าวโทษค่าเงินบาทเป็นปัจจัยเดียวที่ทำร้ายอุตสาหกรรมสิ่งทอและรองเท้าคงไม่เป็นธรรมนัก เพราะค่าเงินบาทอาจจะเป็นเพียงฟางเส้นสุดท้ายที่ขาดลง หลังจากที่ปัญหาต่างๆ ได้สะสมมานาน โดยเฉพาะปัญหาเชิงโครงสร้างที่ทำให้ความสามารถในการแข่งขันของไทยลดลงเป็นลำดับ" เอกสารเผยแพร่ ระบุ
ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา(40-49) อุตสาหกรรมรองเท้าไทยมีทิศทางหดตัว โดยสัดส่วนการส่งออกรองเท้าต่อการส่งออกทั้งหมดลดลงอย่างชัดเจนจาก 3.8% ของมูลค่าส่งออกในปี 38 เหลือเพียง 0.7% ในปี 50 เช่นเดียวกับสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มที่มีสัดส่วนการส่งออกต่อการส่งออกทั้งหมดลดลงมาโดยตลอดจาก 11.4% ของมูลค่าส่งออกรวมในปี 38 เหลือเพียง 4.7% ในปี 50
ในอุตสาหกรรมรองเท้า สินค้ารายการหลักคือ รองเท้ากีฬาและรองเท้าหนัง โดยรองเท้ากีฬามีสัดส่วนกว่าครึ่งหนึ่งของมูลค่าส่งออกรองเท้าทั้งหมด ซึ่งช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้(ม.ค.-ก.ค.)มูลค่าส่งออกในรูปเงินบาทได้ลดลงถึง 17.4% ต่อเนื่องจากปีก่อนที่หดตัว 4.2% เนื่องจากการส่งออกไปสหรัฐซึ่งเป็นตลาดหลักลดลงอย่างมาก ยิ่งกว่านั้นเมื่อพิจารณาส่วนแบ่งตลาดรองเท้าไทยในสหรัฐจะพบว่ามีแนวโน้มลดลงเป็นลำดับจาก 1.8% ของมูลค่านำเข้ารองเท้ารวมของสหรัฐในปี 46 เหลือ 1.5% ในปี 49 ขณะที่รองเท้าจากประเทศคู่แข่ง เช่น จีน และเวียดนาม กลับเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
ด้านสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มพบว่ามูลค่าส่งออกในรูปเงินบาทช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ลดลงถึง 8.2% ต่อเนื่องจากปีก่อนที่ลดลง 2.8% สินค้ารายการหลักคือ เสื้อผ้าสำเร็จรูป และผ้าผืน โดยเฉพาะเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ส่งออกไปสหรัฐซึ่งเป็นตลาดหลักลดลงต่อเนื่องจากปีก่อน และเมื่อพิจารณาส่วนแบ่งตลาดเสื้อผ้าสำร็จรูปพบว่ายังคงทรงตัวจาก 2.8% ในปี 47 เหลือ 2.6% ในปี 49 แตกต่างจากประเทศเพื่อนบ้านที่เพิ่มสูงขึ้น เช่น จีน อินโดนีเซีย เวียดนาม อินเดีย เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม หากผู้ประกอบการทั้ง 2 อุตสาหกรรมเร่งปรับตัวอย่างมากเพื่อให้ผ่านพ้นจุดวิกฤต เช่น ปรับรูปแบบให้ทันแฟชั่น ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต และสร้างเอกลักษณ์สินค้าของตนเอง เพื่อให้สนองความต้องการของตลาดที่เฉพาะเจาะจง(Niche Market) จะช่วยให้สามารถแข่งขันได้ นอกจากนี้ยังต้องมีความสามารถด้านบริหารจัดการ ไม่ว่าจะเป็น ด้านการตลาด ระบบการจำหน่าย รวมถึงการลงทุนที่ค่อนข้างสูง และความอดทนในการสร้างตราสินค้าให้เป็นที่ยอมรับของตลาด
ปัญหาค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นในปีนี้น่าจะเป็นบทเรียนสำคัญสำหรับผู้ส่งออกไทยให้ตื่นตัวในการเรียนรู้เรื่องการบริหารความเสี่ยง เพราะการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินบาทเป็นปัจจัยภายนอกที่อยู่นอกเหนือการควบคุม เพื่อเป็นปัจจัยประกอบการตัดสินใจในการกำหนดราคาสินค้า การกระจายความเสี่ยง ซึ่งอาจเป็นเรื่องใหม่สำหรับผู้ประกอบการไทยแต่เป็นเรื่องจำเป็นต่อการอยู่รอดของธุรกิจไทย
--อินโฟเควสท์ โดย ธนวัฏ เสือแย้ม/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--