คลังชี้ปัจจัยเร่งเบิกจ่ายภาครัฐ-กระตุ้นการบริโภคเอกชนช่วยฟื้นเศรษฐกิจ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 29, 2007 11:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นางพรรณี สถาวโรดม ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) กล่าวว่า การใช้จ่ายของรัฐบาลและการฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชนมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจในเดือน ก.ค.50 ขณะที่การส่งออกซึ่งเป็นปัจจัยหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาและการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกยังอยู่ในเกณฑ์ดี 
เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจด้านการคลังแสดงถึงบทบาทของรัฐบาลในการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณเพิ่มขึ้นเพื่อสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจในภาวะที่อุปสงค์ภายในประเทศยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ โดยรายจ่ายงบประมาณสามารถเบิกจ่ายได้รวม 146.2 พันล้านบาท ขยายตัว 48.2% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็นรายจ่ายประจำ 119.4 พันล้านบาท รายจ่ายลงทุน 23.3 พันล้านบาท และรายจ่ายเหลื่อมปี 3.4 พันล้านบาท
สำหรับรายได้จัดเก็บสุทธิของรัฐบาลจัดเก็บได้รวม 87.1 พันล้านบาท ขยายตัว 12.2% เนื่องจากการจัดเก็บภาษีฐานรายได้ขยายตัวได้ในระดับสูงที่ร้อยละ 12.8 ต่อปี
การบริโภคภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้น โดยภาษีมูลค่าเพิ่มขยายตัวกลับมาเป็นบวกที่ 1.8% จากที่หดตัว 0.5% ในเดือนก่อนหน้า เช่นเดียวกับการบริโภคสินค้าคงทนปรับตัวดีขึ้น โดยปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งกลับมาขยายตัวเป็นบวกครั้งแรกที่ 4.6% หลังจากที่หดตัวต่อเนื่องติดต่อกันมา 6 เดือน ขณะที่ปริมาณจำหน่ายรถจักรยานยนต์หดตัวลดลงมาอยู่ที่ 15.5% จากเดือนก่อนที่หดตัว 19.0%
อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในเดือน ก.ค.ยังคงปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 70 จุด เนื่องจากผู้บริโภคยังมีความกังวลจากการแข็งค่าของเงินบาท และความเสี่ยงจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจในอนาคต
การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวชะลอลง โดยหมวดเครื่องมือเครื่องจักรที่วัดจากมูลค่าการนำเข้าสินค้าทุนหดตัวลง 3.3% การลงทุนภาคเอกชนด้านการก่อสร้างปรับตัวชะลอลง โดยภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวเพียง 1.8% ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัว 6.6%
ด้านการส่งออกขยายตัวในอัตราที่ชะลอตัวลงมาก โดยมีมูลค่ารวม 11.8 พันล้านดอลลาร์ หรือขยายตัว 5.9% สินค้ากลุ่มหลักที่ชะลอตัวลงมาก ได้แก่ เกษตรกรรม อุตสาหกรรมการเกษตร และสิ่งทอ ส่วนสินค้าส่งออกที่มีการนำเข้าสูง เช่น สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และรถยนต์ส่วนประกอบ ยังสามารถขยายตัวได้ดี ขณะที่การนำเข้ายังคงชะลอตัวลงต่อเนื่องตามการลงทุนภายในประเทศ โดยมีมูลค่ารวม 11.6 พันล้านดอลลาร์ หรือขยายตัว 2.4% ดุลการค้าในเดือน ก.ค.ยังคงเกินดุล 211 ล้านดอลลาร์
สำหรับเครื่องชี้ด้านอุปทานพบว่า ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงที่ 3.6% จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัว 7.6% เนื่องจากผลผลิตหลัก เช่น ยางพาราและมันสำปะหลังปรับตัวชะลอลง ขณะที่ดัชนีราคาสินค้าเกษตรหดตัวลดลงที่ 5.7% จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัว 12.7%
เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรมพบว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม(เบื้องต้น) ขยายตัว 7.5% ขยายตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า สอดคล้องกับมูลค่าการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบที่ขยายตัว 11.3% ในด้านเครื่องชี้ภาคบริการโดยเฉพาะการท่องเที่ยวปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศไทยหดตัว 1.2% จากที่หดตัว 2.4% ในเดือนก่อนหน้า
เสถียรภาพทั้งภายในและภายนอกประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในระดับต่ำที่ 1.7% ขณะที่อัตราการว่างงานเดือน มิ.ย.ยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ 1.4% และสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ในเดือน มิ.ย.อยู่ที่ 37.7% เครื่องชี้เสถียรภาพภายนอกประเทศอยู่ในระดับแข็งแกร่ง ทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือน ก.ค.เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ 73.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งยังคงอยู่ในระดับสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นค่อนข้างมาก

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ