นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ "ESG : Empowering Sustainable Thailand?s Growth" ว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยเน้นการเติบโตของเศรษฐกิจที่ไม่คำนึงถึงเรื่อง ESG โดยเน้นกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตได้ในระยะสั้นเป็นหลัก เช่น ในภาคการท่องเที่ยวที่เน้นเชิงตัวเลข เน้นจำนวนคน เป็นหลัก โดยไม่ได้คำนึงถึงผลข้างเคียง หรือต้นทุนทางสิ่งแวดล้อม หรือการเน้นกระตุ้นการบริโภค เน้นให้เกิดการกู้ยืมเพื่อให้เกิดการใช้จ่าย เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น ส่งผลให้ตัวเลขเศรษฐกิจเติบโตได้ดี แต่ก็ไม่ได้คำนึงถึงผลข้างเคียงในเรื่องการก่อหนี้ครัวเรือน ที่ปัจจุบันอยู่ในระดับสูง และยังเป็นความเปราะบางของระบบเศรษฐกิจไทย ทั้งนี้ มองว่าหากประเทศไทยต้องการเติบโตอย่างยั่งยืน จะต้องเปลี่ยนแนวทางในการขับเคลื่อนโดยคำนึงถึงเรื่อง ESG มากขึ้น โดยต้องให้ ESG เป็นหนึ่งในเคลื่อนยนต์ที่ขับเคลื่อนการเติบโตของประเทศ โดยภาคอุตสาหกรรมที่มองหาโอกาสในการเติบโตในอนาคตต้องหันมาให้ความสนใจเรื่องนี้มากขึ้น ด้วยการปรับตัวเพื่อตอบรับกับเรื่อง ESG เพราะในอนาคตหากอุตสาหกรรมที่มุ่งเน้นเรื่องดังกล่าว จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจและสนับสนุนการเติบโตในอนาคตได้ อาทิ อุตสาหกรรมที่เน้นเรื่องสุขภาพ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ ๆ อุตสาหกรรมอาหารที่เน้นเรื่องออแกนิกส์ เป็นต้น "ประเทศไทยเคยถูกจัดให้เป็นประเทศที่เสี่ยงจะถูกน้ำท่วมเป็นอันดับ 7 ของโลก นอกจากนี้ประเทศไทยยังเคยเจอปัญหาภัยแล้ง ส่งผลให้รายได้เกษตรกรหายไปกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท ขณะที่ภาครัฐเองยังมีปัญหาเรื่องการคอร์รัปชันจนถูกจัดให้อยู่ในประเทศที่มีการคอรัปชันอันดับ 100 ของโลก ขณะที่สิงคโปร์อยู่อันดับที่ 4 ของโลก ตรงนี้ผมรับไม่ได้ ดังนั้นหากประเทศไทยจะเดินไปยังอนาคตโดยไม่คำนึงถึงเรื่อง ESG คงไม่ได้ เพราะข้างหน้ายังมีความเสี่ยงที่ไทยจะถูกกระทบรออยู่ เรื่องสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะ IUU ที่มีโอกาสสูงที่จะกลับมาเป็นประเด็นอีกครั้ง หลังจากการเลือกตั้งสหรัฐฯ เสร็จสิ้น ทั้งหมดถือเป็นความเสี่ยงที่จะถูกหยิบมาเป็นประเด็นในอนาคตทั้งสิ้น" นายเศรษฐพุฒิ กล่าว ผู้ว่าฯ ธปท. กล่าวว่า โดยส่วนตัวมองว่าภาคเอกชนมีความพร้อมที่จะเดินหน้าเรื่อง ESG ได้ทันที โดยไม่ต้องรอภาครัฐเป็นกลไกในการขับเคลื่อน เนื่องจากเอกชนเองมีศักยภาพเพียงพอ ขณะที่ภาครัฐเองบางส่วนยังขาดข้อมูลที่จะสะท้อนสภาพตลาดอย่างครบถ้วน ดังนั้นการให้ภาครัฐเป็นตัวนำเรื่องนี้ อาจไม่ได้เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหา ESG เพื่อสนับสนุนการเติบโตของประเทศอย่างยั่งยืน แม้ว่าเรื่องนี้จะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เชื่อมั่นว่าจะทำได้ ด้วยการเปลี่ยนวิธีคิด "อยากให้เอกชนทำเรื่อง ESG โดยไม่ต้องรอภาครัฐ เพราะเชื่อว่าเอกชนมีศักยภาพ...ผมไม่คิดว่า solution ในการไปสู่ ESG จะเป็น solution ที่ใช้กลไกภาครัฐเป็นตัวนำ หรือเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก ถ้าเราปล่อยให้ ESG ถูกขับเคลื่อนหลักโดยภาครัฐ หรือ regulator ก็อาจจะไม่ใช่ ESG ที่ตอบโจทย์เราเท่าที่ควร" นายเศรษฐพุฒิกล่าว