นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ "ESG : Empowering Sustainable Thailand?s Growth" ว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยเน้นการเติบโตของเศรษฐกิจที่ไม่คำนึงถึงเรื่อง ESG โดยเน้นกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตได้ในระยะสั้นเป็นหลัก เช่น ในภาคการท่องเที่ยวที่เน้นเชิงตัวเลข เน้นจำนวนคน เป็นหลัก โดยไม่ได้คำนึงถึงผลข้างเคียง หรือต้นทุนทางสิ่งแวดล้อม หรือการเน้นกระตุ้นการบริโภค เน้นให้เกิดการกู้ยืมเพื่อให้เกิดการใช้จ่าย เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น ส่งผลให้ตัวเลขเศรษฐกิจเติบโตได้ดี แต่ก็ไม่ได้คำนึงถึงผลข้างเคียงในเรื่องการก่อหนี้ครัวเรือน ที่ปัจจุบันอยู่ในระดับสูง และยังเป็นความเปราะบางของระบบเศรษฐกิจไทย ทั้งนี้ มองว่าหากประเทศไทยต้องการเติบโตอย่างยั่งยืน จะต้องเปลี่ยนแนวทางในการขับเคลื่อนโดยคำนึงถึงเรื่อง ESG มากขึ้น โดยต้องให้ ESG เป็นหนึ่งในเคลื่อนยนต์ที่ขับเคลื่อนการเติบโตของประเทศ โดยภาคอุตสาหกรรมที่มองหาโอกาสในการเติบโตในอนาคตต้องหันมาให้ความสนใจเรื่องนี้มากขึ้น ด้วยการปรับตัวเพื่อตอบรับกับเรื่อง ESG เพราะในอนาคตหากอุตสาหกรรมที่มุ่งเน้นเรื่องดังกล่าว จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจและสนับสนุนการเติบโตในอนาคตได้ อาทิ อุตสาหกรรมที่เน้นเรื่องสุขภาพ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ ๆ อุตสาหกรรมอาหารที่เน้นเรื่องออแกนิกส์ เป็นต้น "ประเทศไทยเคยถูกจัดให้เป็นประเทศที่เสี่ยงจะถูกน้ำท่วมเป็นอันดับ 7 ของโลก นอกจากนี้ประเทศไทยยังเคยเจอปัญหาภัยแล้ง ส่งผลให้รายได้เกษตรกรหายไปกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท ขณะที่ภาครัฐเองยังมีปัญหาเรื่องการคอร์รัปชันจนถูกจัดให้อยู่ในประเทศที่มีการคอรัปชันอันดับ 100 ของโลก ขณะที่สิงคโปร์อยู่อันดับที่ 4 ของโลก ตรงนี้ผมรับไม่ได้ ดังนั้นหากประเทศไทยจะเดินไปยังอนาคตโดยไม่คำนึงถึงเรื่อง ESG คงไม่ได้ เพราะข้างหน้ายังมีความเสี่ยงที่ไทยจะถูกกระทบรออยู่ เรื่องสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะ IUU ที่มีโอกาสสูงที่จะกลับมาเป็นประเด็นอีกครั้ง หลังจากการเลือกตั้งสหรัฐฯ เสร็จสิ้น ทั้งหมดถือเป็นความเสี่ยงที่จะถูกหยิบมาเป็นประเด็นในอนาคตทั้งสิ้น" นายเศรษฐพุฒิ กล่าว ผู้ว่าฯ ธปท. กล่าวว่า โดยส่วนตัวมองว่าภาคเอกชนมีความพร้อมที่จะเดินหน้าเรื่อง ESG ได้ทันที โดยไม่ต้องรอภาครัฐเป็นกลไกในการขับเคลื่อน เนื่องจากเอกชนเองมีศักยภาพเพียงพอ ขณะที่ภาครัฐเองบางส่วนยังขาดข้อมูลที่จะสะท้อนสภาพตลาดอย่างครบถ้วน ดังนั้นการให้ภาครัฐเป็นตัวนำเรื่องนี้ อาจไม่ได้เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหา ESG เพื่อสนับสนุนการเติบโตของประเทศอย่างยั่งยืน แม้ว่าเรื่องนี้จะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เชื่อมั่นว่าจะทำได้ ด้วยการเปลี่ยนวิธีคิด "อยากให้เอกชนทำเรื่อง ESG โดยไม่ต้องรอภาครัฐ เพราะเชื่อว่าเอกชนมีศักยภาพ...ผมไม่คิดว่า solution ในการไปสู่ ESG จะเป็น solution ที่ใช้กลไกภาครัฐเป็นตัวนำ หรือเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก ถ้าเราปล่อยให้ ESG ถูกขับเคลื่อนหลักโดยภาครัฐ หรือ regulator ก็อาจจะไม่ใช่ ESG ที่ตอบโจทย์เราเท่าที่ควร" นายเศรษฐพุฒิกล่าว
นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวในหัวข้อ "ถอดรหัสผู้นำ : บริษัทเติบโตอย่างยั่งยืน" ในงานสัมมนา อนาคตประเทศไทยสู่ความยั่งยืน ว่า ธนาคารออมสินกำลังขับเคลื่อนไปสู่การเป็น "ธนาคารเพื่อสังคม" หรือ Social Banking ซึ่งการไปสู่จุดนี้ไม่ถือว่าเป็นเรื่องที่ยากนัก เนื่องจากธนาคารมีเป้าหมายหลักในการดูแลประชาชนรายย่อยซึ่งเป็นกลุ่มฐานรากอยู่แล้ว แนวทางการดำเนินงานของธนาคารจึงไม่ได้มุ่งแสวงผลกำไรเป็นหลัก แต่ต้องสามารถช่วยดูแลประชาชนรายย่อย และช่วยเหลือสังคมอย่างเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน
"การเป็น Social Banking ไม่ได้มุ่งหวังที่จะต้องมีกำไรมากเสมอไป กำไรอาจจะน้อย แต่จะทำอะไรก็ต้องมี impact ต่อสังคม ต้องช่วยเหลือคนได้ สามารถจับต้องได้อย่างชัดเจน" ผู้อำนวยการธนาคารออมสินกล่าว
ทั้งนี้ การเป็นองค์กรที่เติบโตอย่างยั่งยืนได้นั้น จะต้องเริ่มต้นจากภายในที่เข้มแข็ง มีการบริหารงานที่ดี มีเงินทุนสำรองเพียงพอที่จะรองรับความเสี่ยงต่างๆ มีพนักงานที่เข้มแข็ง รวมถึง stakeholders (ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย) ที่เข้มแข็งด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นประชาชน ชุมชน ผู้ค้ารายย่อย เป็นต้น โดยภารกิจสำคัญของธนาคารออมสินจะเน้นใน 2 เรื่อง คือ การลดความเหลื่อมล้ำ และการแก้ปัญหาความยากจน
พร้อมกันนี้ ได้ตั้งเป้าที่จะเป็นผู้นำของธนาคารเฉพาะกิจของรัฐในเรื่องของการเติบโตที่ยั่งยืน (Empowering Sustainable Growth : ESG) ในการทำหน้าที่ให้สินเชื่อ และสภาพคล่องในอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสม และเป็นธรรม ควบคู่กับการเป็น Funding Provider ให้แก่ภาครัฐด้วย
นายวิทัย กล่าวว่า จากสถานการณ์โควิดในช่วงที่ผ่านมา ธนาคารออมสินได้ตอบสนองนโยบายของภาครัฐในการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด ด้วยการจัดทำโครงการต่างๆ รวมทั้งหมด 16 โครงการ เพื่อช่วยให้ประชาชนในกลุ่มฐานราก และผู้ค้ารายย่อยกว่า 5 ล้านราย ในการเพิ่มสภาพคล่องและให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินได้มากขึ้นผ่านโครงการต่างๆ กว่า 1.7 แสนล้านบาท
"ก่อนหน้านี้ บางคนไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงิน ไม่สามารถกู้เงินได้ ไม่อยู่ในระบบเครดิตบูโร เพราะเขาเหล่านั้นเข้าไม่ถึงสินเชื่อ แต่เมื่อเราปล่อยสินเชื่อให้ ก็ทำให้เขาสามารถเข้าถึงแหล่งเงินในการประกอบอาชีพ ซึ่งนี่เป็นบทบาทในทางสังคมของธนาคารในการช่วยลดความเหลื่อมล้ำ และแก้ปัญหาความยากจน" นายวิทัย กล่าว