แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตัวเลขการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคช่วง 7 เดือนแรก(ม.ค.-ก.ค.50) มีมูลค่า 6.32 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 17.75% ทั้งนี้เมื่อพิจารณารายการสินค้าฟุ่มเฟือยทั้งหมด 17 รายการที่อยู่ในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค พบว่าช่วง 7 เดือนแรกมีการนำเข้าถึง 3.26 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือขยายตัวถึง 20.17%
โดยสินค้าดังกล่าว ได้แก่ นาฬิกาและส่วนประกอบ เพิ่มขึ้น 4.97% มูลค่า 214 ล้านเหรียญสหรัฐ, เสื้อผ้าสำเร็จรูป เพิ่มขึ้น 23.09% มูลค่า 136 ล้านเหรียญสหรัฐ, กล้องถ่ายรูป อุปกรณ์และส่วนประกอบ เพิ่มขึ้น 85.28% มูลค่า 5 ล้านเหรียญสหรัฐ
ด้านนายกฤษฎา ธนะคุ้มชีพ ผู้อำนวยการสำนักบริหารการนำเข้า (สบน.) กรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า สาเหตุของการนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือยเพิ่มขึ้นเป็นผลจากการนำเข้าสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศ เช่น จีน รวมถึงผู้บริโภคไทยที่ยังยึดติดแบรนด์จากต่างประเทศ ประกอบกับช่วงที่ผ่านมาเงินบาทแข็งค่าการนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือยจึงมีราคาถูกลง
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้ประสานไปยังหน่วยงานต่างๆ ให้ช่วยรรณรงค์การใช้สินค้าไทย เพื่อลดการนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือยในส่วนที่ผู้ประกอบการไทยสามารถผลิตได้และมีคุณภาพ รวมทั้งขอความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยสร้างมาตรฐานสินค้า เช่น กรมวิชาการเกษตร ซึ่งมีบทบาทในการดูแลมาตรฐานด้านสุขอนามัย, สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ดูแลสินค้ายา, สำนักงานมาตรฐานสินค้าอุตสาหกรรม(สมอ.) ดูแลสินค้าอุตสาหกรรม เป็นต้น ซึ่งจะสกัดสินค้านำเข้าฟุ่มเฟือยที่ไม่ได้คุณภาพเข้ามาในประเทศ
--อินโฟเควสท์ โดย พณฦ/กษมาพร/เสาวลักษณ์ โทร.0-2253-5050 ต่อ 353 อีเมล์: saowalak@infoquest.co.th--