ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดส่งออกไทยปีนี้ -7% เผชิญความไม่แน่นอนศก.โลก-บาทแข็ง

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 23, 2020 18:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า การส่งออกของไทยในปี 63 จะยังหดตัวที่ -7% เนื่องจากทิศทางการส่งออกของไทยในระยะข้างหน้ายังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอน ทั้งจากเรื่องการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และทิศทางค่าเงินบาทที่แข็งค่า โดยสหรัฐฯ เผชิญเรื่องการระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงขึ้น จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มสูงขึ้นทำสถิติใหม่ต่อเนื่อง ล่าสุดแตะระดับสูงสุดกว่า 2 แสนราย ท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านผู้นำในการบริหารประเทศ โดยรอยต่อจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนธ.ค.63 และ ม.ค.64 ซึ่งอาจสร้างภาวะสุญญากาศจนทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ เผชิญความเสี่ยงในไตรมาส 1/64 รวมถึงยังต้องติดตามสถานการณ์การกลับมาแพร่ระบาดซ้ำในหลายประเทศทั่วโลก เช่น ประเทศในแถบยุโรป ญี่ปุ่น รวมถึงฮ่องกง โดยล่าสุดฮ่องกงและสิงคโปร์เลื่อนเปิด Travel bubble ออกไปสองสัปดาห์ (เดิมคาดว่าจะเปิดในวันที่ 22 พ.ย.63) เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อในฮ่องกงเพิ่มสูงขึ้น

ด้านปัจจัยในประเทศ ยังคงต้องติดตามสถานการณ์ค่าเงินบาท หลังธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาตรการเพื่อลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาท และแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างให้กับตลาดอัตราแลกเปลี่ยนไทย เพื่อให้เงินทุนเคลื่อนย้ายมีความสมดุลมากขึ้น

ทั้งนี้ ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องในเดือนต.ค. ตัวเลขส่งออกไทยในเดือนต.ค.63 หดตัวที่ -6.71% ที่มูลค่า 19,376 ล้านเหรียญฯ แต่เมื่อหักสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และอาวุธฯ การส่งออกจะหดตัวที่ -4.89% ซึ่งหดตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก.ย.63 ซึ่งในภาพรวมการส่งออก 10 เดือนแรกปีนี้ หดตัว -7.26%

โดยการส่งออกสินค้าเกษตรพลิกกลับมาหดตัวที่ -8.8% โดยการส่งออกสินค้าเกษตรชะลอตัวลงเกือบทุกตัว ขณะที่แม้ว่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมส่วนใหญ่จะปรับดีขึ้น โดยเฉพาะสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน แต่ภาพรวมยังหดตัวเพิ่มขึ้นที่ -4.7%

หากพิจารณารายตลาดส่งออกของไทย พบว่า การส่งออกไปจีนกลับมาหดตัวที่ -6.1% จากที่ขยายตัว 6.9% ในเดือนก.ย. สินค้าสำคัญที่หดตัวได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เป็นต้น นอกจากนี้ การส่งออกไปประเทศใน CLMV หดตัวเพิ่มขึ้นเนื่องจากการแพร่ระบาดซ้ำของโควิด-19 ในบางพื้นที่

อย่างไรก็ดี การส่งออกในตลาดหลักส่วนใหญ่ยังอยู่ในทิศทางฟื้นตัว ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อที่ขยายตัวดีขึ้น โดยการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ยังคงขยายตัวได้ดีเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน ด้านสหภาพยุโรปหดตัวลดลงต่อเนื่อง อีกทั้งในหลายตลาดเริ่มพลิกกลับมาฟื้นตัว โดยเฉพาะการส่งออกไปอินเดีย พลิกกลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 15 เดือนที่ 13.7%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ