ธปท.ยันไม่เพิ่มมาตรการกระตุ้นแบงก์ลด NPL แม้สิ้นปีจะพลาดเป้าที่ 2%

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 13, 2007 14:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นางทองอุไร ลิ้มปิติ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายนโยบายความเสี่ยง ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.ไม่จำเป็นต้องออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นให้ระบบธนาคารพาณิชย์เร่งปรับลดระดับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL) แม้ว่าธปท.จะไม่สามารถลดระดับ NPLได้ตามเป้าหมายที่ 2 % ณ สิ้นปีนี้ก็ตาม 
เนื่องจากที่ผ่านมาธปท.ได้บังคับใช้กฎเกณฑ์ในเรื่องนี้หลายมาตรการและมีระดับความเข้มข้นสูงมาก โดยเฉพาะการตั้งสำรองตามเกณฑ์ IAS 39 ประกอบกับระบบธนาคารพาณิชย์มีการตั้งสำรองหนี้ดังกล่าว ณ สิ้นมิ.ย.สูงถึง 90,000 ล้านบาท ซึ่งเหลือการตั้งสำรองก่อนสิ้นปีนี้อีกเพียง 3,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ล่าสุด ณ สิ้นเดือน มิ.ย.50 NPL อยู่ที่ระดับ 4.8% ของสินเชื่อรวม
"ปัจจุบันระดับเอ็นพีแอลเร่งนิ่งๆ จึงไม่น่ากังวล ซึ่งยอมรับว่าเป้าสิ้นปี 2% ทำไม่ได้ แต่ระดับปัจจุบันแบงก์ชาติก็พอใจ สิ้นปีน่าจะได้ที่ 4% เพราะว่าสถานการณ์หลายอย่างเริ่มดีขึ้นทั้งการเมือง ค่าเงินบาท และดอกเบี้ย" นางทองอุไร กล่าว
ด้านนายปกรณ์ พรรธนะแพทย์ ผู้ช่วยผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย(KBANK) ยอมรับว่าลูกค้าของธนาคารซึ่งเป็น SME ที่ทำธุรกิจส่งออกเริ่มประสบปัญหาขาดทุนจากเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น และส่งผลให้ความสามารถในการชำระหนี้ลดลง ซึ่งถือเป็นสาเหตุการเร่งตัวของ NPL แม้ล่าสุดตัวเลขจะอยู่ในระดับต่ำพียง 1% จากเป้าหมายทั้งปีที่ไม่เกิน 3% ก็ตาม
อย่างไรก็ดี ขณะนี้ธนาคารได้เร่งเข้าไปให้ความช่วยเหลือในรูปแบบต่างๆ แล้ว เช่น โครงการประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน,
การให้ความรู้ในการประกอบธุรกิจโดยการจัดโครงการอบรมซึ่งดำเนินการมาแล้ว 3 รุ่น
ปัจจุบันธนาคารมีลูกค้า SME ทั้งสิ้น 200,000 ราย คาดว่าจะมีความต้องการสินเชื่อคงค้างในสิ้นปีนี้ที่ 300,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 20% โดยครึ่งปีแรกที่ผ่านมาสินเชื่อขยายตัวเพิ่มขึ้นกว่า 5.5% และมั่นใจว่าครึ่งปีหลังการเติบโตจะสูงกว่าครึ่งปีแรก เนื่องจากมีปัจจัยสนับสนุนการดำเนินธุรกิจหลายด้าน เช่น ภาวะดอกเบี้ยต่ำ และสถานการณ์การเมืองเริ่มดีขึ้น อีกทั้งเห็นสัญญาณการเบิกใช้วงเงินของลูกค้าในช่วงไตรมาส 2 เร่งตัวขึ้นแล้ว
ด้านนายบุญทักษ์ หวังเจริญ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย(KBANK) ระบุว่า การเร่งตัวของหนี้ NPL ดังกล่าวยังเป็นระดับที่ควบคุมได้ แม้ในช่วงไตรมาสแรกจะเร่งตัวสูงถึง 20% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน แต่ยังเป็นระดับที่ต่ำกว่าระบบสถาบันกาเรงินที่เพิ่มขึ้นถึง 50% ซึ่งส่วนตัวแล้วเชื่อว่าลูกค้ากลุ่มนี้จะสามารถปรับตัวและแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างดีและรวดเร็ว เพราะธนาคารได้เข้าไปสนับสนุนในส่วนที่ลูกค้าต้องการแล้ว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ