นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยว่า ได้มอบนโยบายให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ไปศึกษาแนวทางการกู้เงินจากต่างประเทศ เพื่อกระจายแหล่งเงินกู้ เพราะมองว่าในช่วงหลังจากที่สถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง ภาคเอกชนจะมีความต้องการเงินกู้ในประเทศสูงขึ้น
รมว. คลัง กล่าวว่า ในการกู้เงินจากต่างประเทศ ให้เน้นการใช้เงินกู้ใน 4 เรื่องที่สำคัญ คือ 1.การกู้เพื่อนำมาใช้ในสาขาที่ประเทศต้องการ เช่น เทคโนโลยี, ดิจิทัล, ระบบขนส่งมวลชน 2.การกู้ที่นำมาใช้ในโครงการที่มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีชั้นสูง 3.การกู้เพื่อใช้ในการลงทุนโครงการที่เป็น Green Economy และ 4.การกู้เพื่อใช้ในโครงการลงทุนเชิงสังคมที่เน้นด้านสุขอนามัย เป็นต้น
อย่างไรก็ดี ในปีงบประมาณ 2564 สบน. ยังไม่มีแผนกู้เงินจากต่างประเทศเพิ่ม หลังจากที่ได้ลงนามการกู้เงินจากธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ในวงเงิน 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐไปแล้ว เพื่อนำมาดูแลสถานการณ์โควิด-19
รมว.คลัง มองว่า การกู้จากต่างประเทศถือเป็นเรื่องปกติ เพราะแม้แต่จีนซึ่งเป็นประเทศที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจแล้ว แต่ก็ยังมีความจำเป็นที่จะต้องกู้เงินจากต่างประเทศ เนื่องจากต้องการการนำเข้าเทคโนโลยี ดังนั้นการกู้เงินเพื่อนำมาพัฒนาประเทศจึงไม่ใช่เรื่องผิดปกติ
นายอาคม กล่าวด้วยว่า สำหรับหนี้สาธารณะในปัจจุบันอยู่ที่ 49.34% ต่อจีดีพี ซึ่งยังต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ที่ไม่เกิน 60% ทั้งนี้แม้ว่ารัฐบาลได้ออก พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทแล้วก็ตาม แต่เชื่อว่าในปี 64 รวมไปถึงในอีก 5 ปีข้างหน้า สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีก็ยังไม่เกินกรอบที่กำหนด
"ภาระหนี้ต่อจีดีพี ขึ้นอยู่กับขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศด้วย หากการขยายตัวต่ำ ก็จะทำให้หนี้ต่อจีดีพีสูงขึ้น ซึ่งในปี 64 คาดว่าจีดีพีจะขยายตัวได้ 4% และในช่วง 5 ปี คาดว่าจะขยายตัวในระดับ 3-5%" รมว.คลังกล่าว