NGO ยื่นหนังสือถึง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ขอให้ยุติความพยายามของกลุ่มนักวิจัย และบริษัทข้ามชาติที่จะให้มีการทดลอง GMOs ในระดับไร่นา หวั่นปัญหาการผสมพันธุ์ระหว่างพืช GMO กับพืชพื้นเมืองจะทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ และส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าเกษตรของไทย
ก่อนหน้านี้ นายธีระ สูตะบุตร รมว.เกษตรและสหกรณ์ เตรียมจะนำเสนอวาระการประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ให้ทบทวนมติครม.เมื่อวันที่ 3 เม.ย.44 เพื่ออนุญาตให้มีการทดลอง GMO ในระดับไร่นา แต่ล่าสุดพบว่าจะยังไม่มีการเสนอให้พิจารณาเรื่องดังกล่าวในวันนี้
มูลนิธิชีววิถี(Bio Thai), มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค และเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก เห็นว่าการตัดสินใจให้มีการปลูกและทดลองพืช GMO ในไร่นา โดยไม่มีกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพมาควบคุมดูแล และปราศจากมาตรการที่เข้มงวดในการควบคุมการทดลอง อาจจะทำให้เกิดปัญหาการปนเปื้อนทางพันธุกรรม และเกิดปัญหาเหล่านี้ตามมา เช่น การผสมข้ามพันธุ์ของพืช GMO ที่อยู่ระหว่างการทดบองในสภาพไร่นากับพันธุ์พืชทั่วไป จะทำให้เกษตรกรตกเป็นทาสของเมล็ดพันธุ์ข้ามชาติที่ถือครองสิทธิบัตรพืช GMO ดังกล่าว
นอกจากนี้ การผสมข้ามพันธุ์ของพืช GMO กับพืชพื้นเมืองจะเป็นการทำลายความหลากหลายทางชีวภาพของไทย ซึ่งไทยเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจแบบพอเพียง อีกทั้งการปนเปื้อนทางพันธุกรรมยังส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าเกษตรทั่วไป และผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมอินทรีย์ ซึ่งจะเกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อผู้ประกอบการและเกษตรกรในระยะสั้นและระยะยาว
ทางกลุ่มเห็นว่า คณะรัฐมนตรีต้องตัดสินใจทางนโยบายโดยคำนึงถึงผลประโยชน์และผลกระทบโดยรวม และคำนึงถึงผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด ไม่ใช่ตัดสินใจจกาแรงผลักดันของรัฐบาลสหรัฐฯ บรรษัทข้ามชาติ หรือนักวิจัย GMO กลุ่มเล็กๆ เท่านั้น เพราะแม้แต่รัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีความพยายามจะผลักดันให้มีการทดลองและปลูกพืช GMO ในระดับไร่นาเมื่อปี 47 ยังได้ตัดสินใจถอนวาระดังกล่าวออกจากการประชุมคณะรัฐมนตรีหลังจากถูกหลายฝ่ายคัดค้าน
--อินโฟเควสท์ โดย ธนวัฏ เสือแย้ม/กษมาพร/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--