นายวิรไท สันติประภพ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) กล่าวว่า ปัจจุบันธุรกิจ SME เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2550 สินเชื่อ SME ของธนาคารเติบโตประมาณ 15% หรือคิดเป็น 2.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่าตลาด ต่อเนื่องจากปี 2549 ที่สินเชื่อธุรกิจ SME ของธนาคารขยายตัวถึง 36% หรือ 4 หมื่นล้านบาท จากยอด Outstanding ทั้งหมด 1.2 แสนล้านบาท
สำหรับครึ่งปีหลังนี้ธนาคารยังคงมุ่งขยายสินเชื่อกลุ่ม SME อย่างต่อเนื่อง โดยสินเชื่อธุรกิจ SME คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 24% ของสินเชื่อทั้งหมดของธนาคาร
ทั้งนี้ ธนาคารได้นำกลยุทธ์หลัก 2 ด้านมาใช้ ได้แก่ การให้บริการที่ดี โดยมีการนำระบบ Electronic Loan Origination System หรือกระบวนการอนุมัติสินเชื่อโดยไม่ใช้กระดาษมาใช้ เพิ่มจำนวนพนักงานดูแลลูกค้ากลุ่ม SME อีกประมาณ 30%
นอกจากนั้น ยังมีการฝึกอบรมให้มีความเข้าใจในลูกค้าแต่ละกลุ่มเพื่อการให้บริการได้ตรงตามความต้องการ พร้อมทั้ง การจัดกิจกรรมสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Added Activity) อันจะเป็นการส่งเสริม สนับสนุนให้ผู้ประกอบการมีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น โดยยึดแนวคิด“พันธมิตรธุรกิจ"ที่พร้อมให้การสนับสนุนลูกค้า SME ในทุกด้าน
นายวิรไท กล่าวว่า ในส่วน NPL ของสินเชื่อ SME มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นบ้าง แต่ส่วนใหญ่เป็นในอุตสาหกรรมที่อ่อนไหว และลูกค้ารายเล็กๆ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มีลูกค้าของธนาคารที่ประสบปัญหาจนต้องมีการปิดกิจการ ที่ผ่านมาธนาคารมีการดูแลและให้ความช่วยเหลือลูกค้าอย่างต่อเนื่อง มีการปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกค้า โดยพิจารณาเป็นราย ๆ ไป
นายวิรไท กล่าวถึงภาวะเศรษฐกิจต่อจากนี้ไปว่า คาดว่า หลังจากการลงประชามติไปจนถึงสิ้นปีนี้เศรษฐกิจโดยรวมน่าจะยังทรงตัว แต่เชื่อว่าภาพรวมจะเติบโตอย่างน้อย 4% ตามที่มีหลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ และจะกลับมาเป็นขาขึ้นในช่วงต้นปีหน้า เนื่องจากเป็นช่วงที่ได้รัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศ รวมทั้งมีการกำหนดแนวนโยบายที่ชัดเจนในช่วงราวเม.ย.51
ส่วนการประชุมระดมสมองร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)วานนี้เกี่ยวกับนโยบายการเงิน อัตราแลกเปลี่ยนและการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจการเงินเพื่อรองรับความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนและเงินทุนเคลื่อนย้ายในระยะปานกลางนั้น ที่ประชุมเสนอให้มีการพัฒนาเครื่องมือบริหารความเสี่ยงที่เป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการ เช่น การทำ Foward และการพัฒนาตลาด Option เนื่องจากมองว่า Option เหมาะสมในการบริหารความเสี่ยงได้
ธปท.จะเร่งผลักดันเรื่องดังกล่าว รวมถึงการพัฒนาเครื่องมือต่างๆ ของธปท.นอกเหนือจากการแทรกแซงและการเพิ่มสภาพคล่อง เช่น การเร่งออกกฎหมายทางการเงินต่าง ๆ เพื่อเอื้ออำนวยให้ ธปท.มีบทบาทมากขึ้น เช่น ให้สามารถรับฝากเงินแบบธนาคารพาณิชย์ได้
--อินโฟเควสท์ โดย อภิญญา วุฒิเมธากุล/รัชดา/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--