นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า ในปี 64 ตั้งเป้าหมายการค้ำประกันสินเชื่อที่ 1 แสนล้านบาท ภายใต้แผนพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์ค้ำประกันสินเชื่อที่หลากหลาย ตอบโจทย์ SMEs ทุกกลุ่ม ภายใต้กลยุทธ์การทำตลาด Segmentation และการพัฒนาผลิตภัณฑ์เจาะกลุ่มผู้ประกอบการที่ไม่เข้าถึงแหล่งทุน รวมถึงการขยายช่องทางการเข้าถึงแหล่งทุนผ่านช่องทาง non bank เพิ่มโอกาสให้กับผู้ประกอบการ SMEs ที่เข้าไม่ถึงแหล่งทุนจากสถาบันการเงิน
สำหรับผลดำเนินงานของ บสย.ในช่วงเดือนม.ค.-พ.ย.63 มียอดค้ำประกันสินเชื่อแตะ 1.4 แสนล้านบาท และสามารถช่วยผู้ประกอบการ SMEs รายใหม่ได้ถึง 1.3 แสนราย "นับเป็นปรากฎการณ์ในการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ครั้งสำคัญในรอบ 29 ปี ซึ่งผลการดำเนินงานที่เติบโตแบบก้าวกระโดด ทั้งยอดอนุมัติค้ำประกันสินเชื่อ จำนวนลูกค้าใหม่ และจำนวนการอนุมัติหนังสือค้ำประกันสินเชื่อ (LG) ของบสย. ท่ามกลางการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19" นายรักษ์ กล่าว ในขณะที่ผลดำเนินงานปี 63 (ม.ค.-ต.ค.) เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 62 มีการเติบโตขึ้นจากยอดการอนุมัติการค้ำประกันสินเชื่อปี 63 ที่เพิ่มขึ้น 122% จาก 61,392 ล้านบาท เป็น 135,984 ล้านบาท, การช่วยเหลือ SMEs รายใหม่ให้เข้าถึงสินเชื่อ เพิ่มขึ้น 167% จาก 47,626 ราย เป็น 127,054 ราย และจำนวนการอนุมัติหนังสือค้ำประกันสินเชื่อ (LG) เพิ่มขึ้น 174% จาก 61,979 LG เป็น 169,959 LG โดยแผนการดำเนินงานของ บสย. ในปี 64 จะมุ่งเน้นใน 5 ยุทธศาสตร์ เพื่อยกระดับองค์กรสู่ New Business Model ได้แก่ 1. การผลักดันการเข้าถึงแหล่งทุนด้วยการเป็น Credit accelerator 2. การสร้างองค์ความรู้และโอกาสทางธุรกิจให้กับ SMEs และรายย่อยด้วยการเป็นเพื่อนคู่คิด 3. การเป็นตัวกลางเชื่อมโยง SMEs และรายย่อยสู่แหล่งทุนที่หลากหลาย 4. การให้สินเชื่อแบบเฉพาะกลุ่มที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ และ 5. การจัดตั้งศูนย์บริการข้อมูล เพื่อสร้างฐานข้อมูล SMEs โดยความร่วมมือกับพันธมิตรในการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกัน นายรักษ์ กล่าวด้วยว่า บสย.ยังได้เตรียมความพร้อมการดำเนินแผนงานรองรับการอนุมัติโครงการค้ำประกันสินเชื่อใหม่ จำนวน 2 โครงการ คือ 1. โครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS9 วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท เพื่อสนับสนุนให้สถาบันการเงินมีความมั่นใจในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น รวมถึงช่วยเหลือลูกค้า SMEs ที่มีปัญหา ภายใต้โครงการค้ำประกันสินเชื่อ บสย. SMEs สร้างไทย เฟส 2 และ 2. โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Micro 4 วงเงิน 25,000 ล้านบาท ซึ่งมีวงเงินเพิ่มขึ้น เนื่องจากรัฐบาลให้ความสำคัญในการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ฐานราก และกลุ่มอาชีพอิสระ โดยให้ บสย.พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย เพื่อตอบโจทย์เยียวยาแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งทั้ง 2 โครงการกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณา และคาดว่ารัฐบาลจะมอบโครงการนี้ให้เป็นของขวัญปีใหม่แก่ผู้ประกอบการ SMEs ในเร็วๆ นี้ นายรักษ์ กล่าวว่า สำหรับ 3 โครงการค้ำประกันสินเชื่อที่ประสบความสำเร็จ และถือเป็นผลงานโดดเด่นที่ช่วยแก้วิกฤติให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ในช่วงสถานการณ์โควิด ซึ่งมีส่วนสำคัญในการผลักดันให้ธนาคารปล่อยสินเชื่อ ได้แก่ 1. โครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS8 ปกติ วงเงิน 1 แสนล้านบาท ประกอบด้วย โครงการย่อย ได้แก่ พลิกฟื้นท่องเที่ยว, ดีแน่นอน, บัญชีเดียว, ชีวิตใหม่ ซึ่งบรรลุเป้าหมายถึง 99% วงเงิน 99,000 ล้านบาท 2. โครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS8 "บสย. SMEs สร้างไทย" วงเงิน 50,000 ล้านบาท มาตรการของรัฐบาลที่เปิดตัวในช่วงต้นปี 63 ในการช่วยผู้ประกอบการ SMEs กลุ่มเปราะบางและกลุ่มที่มีการปรับโครงสร้างหนี้ ค้ำประกันเต็มวงเงิน 100% 3. โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Micro entrepreneur ระยะ 3 วงเงิน 15,000 ล้านบาท ช่วยผู้ประกอบการ SMEs ฐานรากและอาชีพอิสระ ค้ำประกันเต็มวงเงิน 100% นอกจากนี้ บสย. ยังมีบทบาทสำคัญและเป็นกลไกในการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ให้เข้าถึงแหล่งทุน โดยเชื่อมโยงการค้ำประกันสินเชื่อในโครงการสินเชื่อ Soft Loan ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต่อเนื่อง ภายใต้โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Soft Loan พลัส (Soft Loan+) วงเงิน 57,000 ล้านบาท รวมถึงความร่วมมือกับธนาคารออมสินในโครงการค้ำประกันสินเชื่อในโครงการสินเชื่อ Soft Loan วงเงิน 10,000 ล้านบาท ขณะเดียวกัน ยังได้มีการจัดตั้งศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน SMEs (บสย. F.A. Center) โดยมีแนวคิดจากที่ต้องการยกระดับการให้บริการผู้ประกอบการ SMEs มากกว่าบทบาทการค้ำประกันสินเชื่อ "จากนายประกันสู่ที่ปรึกษาทางการเงิน" กำหนดเป้าหมายให้ศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน SMEs เป็น F.A.ภาครัฐ ช่วยเหลือ SMEs ทั้งให้คำปรึกษาทางการเงินและเสริมสร้างความรู้ทางการเงิน โดยผลตอบรับหลังการจัดตั้งศูนย์ดังกล่าวนี้ มีผู้ประกอบการ SMEs ที่เข้ามาขอคำปรึกษามากกว่า 6,000 เคส และสามารถปิดเคสได้แล้ว 2,000 เคส หรือคิดเป็น 34%