รัฐย้ำผู้ส่งออกเพิ่มมูลค่าสินค้าหนีคู่แข่ง-วางแผนระยะยาวรับความเสี่ยง

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 1, 2007 15:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          ภาครัฐย้ำเตือนผู้ประกอบการผลิตสินค้าส่งออกปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าแทนที่จะเน้นด้านแรงงานต้นทุนต่ำ หลังจากจีนและเวียดนามส่งสินค้าต้นทุนต่ำกว่าออกมาตีตลาดอย่างหนัก ทำให้ขีดความสามารถการแข่งขันของไทยในเวทีโลกร่วง แนะวางแผนระยะยาว 5-10 ปีรับมือความเสี่ยงหลายด้าน ประธานเอ็กซิมแบงก์กระตุ้นรัฐบาลบริหารอัตราแลกเปลี่ยนให้เหมาะสม ก้าวให้ทันวิวัฒนาการตลาดการค้าโลก
นายดำริ สุโขธนัง รองปลัดอุตสาหกรรม กล่าวในการสัมมนา"อนาคตการส่งออกไทย"ว่า การสำรวจขีดความสามารถแข่งขันของไทยในเวทีโลกของสถาบัน IMD ล่าสุดตกมาอยู่ในอันดับ 33 จากอันดับ 29 เมื่อปีก่อน เนื่องจากสถานการณ์การเมืองในประเทศไม่แน่นอน เศรษฐกิจชะลอตัว และการจัดหาสินเชื่อในประเทศค่อนข้างติดขัด
ภาพรวมการส่งออกของไทยแม้ยังขยายตัวได้ แต่ส่วนแบ่งตลาดลดลง เนื่องจากโดยสินค้าจากจีนและเวียดนามที่มีแรงงานราคาถูกเข้ามาตีตลาด โดยภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบชัดเจน คือ สิ่งทอ รองเท้าและเครื่องหนัง เนื่องจากสินค้าจากจีนและเวียดนามที่มีแรงงานราคาถูกเข้ามาตีตลาด ดังนั้นผู้ประกอบกการจำเป็นต้องสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเพื่อให้แข่งขันได้ในอนาคต
นายราเชนทร์ พจนสุนทร อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ยังไม่ปรับเป้าหมายประมาณการส่งออกในปีนี้เติบโตที่ 12.5% ถึงแม้การส่งออกในครึ่งปีแรกจะขยายตัวสูงถึง 18% และมีแนวโน้มครึ่งปีหลังยังขยายตัวได้สูงทุกกลุ่มสินค้า ทั้งในตลาดเดิมและตลาดใหม่ ยกเว้นสหรัฐฯ ที่ชะลอตัวลง
สินค้าที่ส่งออกได้ดีมากคือ สินค้้าเกษตร โดยเฉพาะ ข้าว และมันสำปะหลัง แต่สินค้าที่ได้รับผลกระทบจากการแข่งขันในตลาดโลก คือ อัญมณี เครื่องประดับ และสิ่งทอ ผู้ประกอบการต้องปรับตัววางแผนการดำเนินธุรกิจในระยะยาว 5-10 ปีขึ้นไป เพื่อรองรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นหลายด้านทั้งคู่แข่งที่มีต้นทุนต่ำ การแข็งค่าของเงินบาท โดยผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องหนีการใช้แรงงานราคาถูกมาเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตแทนเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าและสร้างแบรนด์ของตัวเองเพื่อรักษาส่วนตลาดไว้
ขณะที่นายณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานคณะกรรมการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย(ธสน.)กล่าวว่า แนวโน้มการส่งออกไทยจากต้นปีถึงปัจจุบันเริ่มมีปัญหา และอาจจะส่งผลกระทบในวงกว้างหากไม่รีบแก้ไข สาเหตุไม่ใช่เพราะเศรษฐกิจโลกไม่ดี หรือตลาดไม่ดี แต่ปัญหาอยู่ที่การจัดการปัญหาเศรษฐกิจของไทยเอง แม้ว่าการส่งออกจะขยายตัวได้ในระดับ 18% ช่วงครึ่งแรกของปีนี้ แต่สินค้าอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานมากขยายตัวเพียง 4.8% เท่านั้น ซึ่งเป็นผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาท
หากดูในด้านการค้าระหว่างประเทศ สัดส่วนการค้าของประเทศกำลังพัฒนามีบทบาทมากขึ้น โดยเพิ่มขึ้นมาเป็น 44% ณ สิ้นปี 49 เมื่อเทียบกับ 43 อยู่ที่ 31.4% แสดงให้เห็นว่าตลาดการค้าโลกมีการขยายตัวในระดับที่ดี แต่ถ้าเราบริหารไม่ทันเกมก็จะทำให้ประสบกับปัญหา เพราะปัจจุบันประเทศสังคมนิยมเข้ามามีส่วนร่วมในตลาดโลกมากขึ้น ขณะที่กติกาการค้าโลกเปลี่ยนแปลงไปมาก และมีกติกาย่อย ๆ เพิ่มเติมจากการรวมกลุ่มเศรษฐกิจต่างๆ ด้านเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดด
และอัตราแลกเปลี่ยนเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นผลจากดอลลาร์อ่อนค่าอย่างมากเมื่อเทียบกับสกุลต่าง ๆ จะเห็นได้ว่าต้นปี 49 ถึงตอนนี้เงินบาทแข็งค่าไปแล้ว 17.6% ดังนั้นปัจจัยสำคัญที่ทางการควรจะต้องคำนึงคือเจรจาการค้าระหว่างประเทศอย่างทันเกมทุกระดับ ใช้ ICT ในการทำธุรกิจและธุรกรรมให้ทันวิวัฒนาการ บริหารค่าเงินบาทอย่างมีประสิทธิภาพทั้งโดยภาครัฐและธุรกิจ
นายสันติ วิลาศศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)กล่าวว่า ขีดความสามารถการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทยยังมีอยู่ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ ไฟฟ้า อิเล็คทรอนิกส์ อาหารแปรรูป ส่วนที่ลดลงคือ อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานในการผลิตมาก เช่น สิ่งทอ เครื่องนุ่มห่ม รองเท้า
แต่เชื่อว่าแนวโน้มผลผลิตของภาคอุตสาหกรรมในครึ่งปีหลังและครึ่งปีหน้าจะมีแนวโน้มที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองเริ่มคลี่คลายในทิศทางที่ดีขึ้น อัตราดอกเบี้ยต่ำช่วยกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนมีการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐหรือเมกะโปรเจ็คต์ และเศรษฐกิจโลกที่ยังมีแนวโน้มเติบโตได้ถึง 5%

แท็ก เวียดนาม  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ