นายตรรก บุนนาค ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) คาดว่าแนวโน้มค่าเงินบาทในปี 64 จะแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากปีนี้ โดยจะอยู่ในช่วง 29-30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ จากสิ้นปีนี้ 30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ โดยปัจจัยสำคัญมาจากทิศทางของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯยังมีแนวโน้มอ่อนค่า จากการเมืองสหรัฐฯที่ยังรอความชัดเจนของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯคนใหม่ ส่งผลให้เม็ดเงินที่เข้าไปลงทุนในสหรัฐฯชะลอตัวรอความชัดเจนของมาตรการดังกล่าว
ขณะเดียวกันการที่ดัชนีดาวโจนส์ปรับเพิ่มขึ้นไปแตะ 30,000 จุด เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้นักลงทุนชะลอการเข้าลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ เพราะแนวโน้มผลตอบแทนเริ่มน้อยลง ทำให้มีการเคลื่อยย้ายเงินทุนออกมาลงทุนในตลาดที่ยังมีโอกาสให้ผลตอบแทนได้สูงกว่า ซึ่งตลาดเกิดใหม่ได้รับอานิสงส์ดังกล่าว เห็นได้จากแนวโน้มเงินทุนไหลเข้ามาในตลาดเกิดใหม่ในช่วงไตรมาส 4/63 เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะตลาดหุ้นอาเซียน รวมถึงตลาดหุ้นไทย ส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น อีกทั้งไทยยังมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูง เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ค่าเงินบาทยังมีทิศทางแข็งค่า
ด้านแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยทั่วโลกยังมองว่าธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลกจะยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับต่ำต่อเนื่องในปี 64 และอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบต่อเนื่อง เพื่อเสริมสภาพคล่องและกระตุ้นให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้เร็ว โดยเฉพาะสหรัฐฯที่คาดว่าจะมีการอัดฉีดเม็ดเงินเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจอีกครั้ง ซึ่งจะทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯอ่อนค่าลงได้อีก
ส่วนอัตราดอกเบี้ยนโยบายไทยคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ตลอดทั้งปี 64 แต่มองว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะใช้แนวทางในการประคองและกระตุ้นเศรษฐกิจในแง่ของการกระจายสภาพคล่องให้ทั่วถึง เพื่อทำให้ผู้ประกอบการหลายรายเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น ทำให้ธุรกิจยังสามารถดำเนินงานต่อไปได้
นอกจากนี้ แนวทางการดูแลค่าเงินบาทของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในปี 64 มองว่า ธปท.จะเข้ามาให้ความสำคัญมากขึ้น เพื่อไม่ให้ค่าเงินบาทแข็งค่ามากเกินไป คาดว่า ธปท.จะพยายามดูแลไม่ให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นสูง 7-8% เหมือนกับในปี 62 เพราะอาจจะกระทบต่อภาคการส่งออก ซึ่งเป็นกลไกหลักของเศรษฐกิจไทย
แนวโน้มอัตราผลตอบแทนพันธบัตร มองว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นจะยังคงที่ หรือยังไม่เห็นการปรับตัวขึ้นอย่างชัดเจน เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับต่ำ และยังไม่เห็นทิศทางการปรับขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ยังไม่มีปัจจัยบวก แต่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวมีแนวโน้มปรับขึ้นได้ จากภาพการลงทุนต่างๆ จะกลับมา และเศรษฐกิจจะสามารถฟื้นตัวได้ดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่สำคัญที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางของอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรคือ การผลิตวัคซีนรักษาโควิด-19 ออกมาใช้จริงอย่างเป็นทางการ ทำให้สถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 คลี่คลายลง เศรษฐกิจก็จะกลับมาฟื้นได้มากขึ้น และตลาดเกิดความมั่นใจมากขึ้นต่อทิศทางของเศรษฐกิจในระยะต่อไป