กระทรวงมหาดไทย โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง จัดสัมมนา เรื่อง "การรับฟังความคิดเห็นประกอบการจัดทำร่างธรรมนูญว่าด้วยการผังเมือง" ที่ จ.ภูเก็ต เพื่อให้ผู้เข้าร่วมสัมมนา มีความรู้ความเข้าใจต่อสาระสำคัญ ขั้นตอนการดำเนินการจัดทำร่างธรรมนูญว่าด้วยการผังเมือง และรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ แนวทางการแก้ไขปรับปรุงร่างธรรมนูญว่าด้วย การผังเมืองที่จัดทำขึ้น โดยคณะทำงาน ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
นายพรพจน์ เพ็ญพาส อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง เปิดเผยว่า ผังเมืองถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการกำหนดทิศทางการพัฒนาเชิงพื้นที่ รวมถึงลักษณะการใช้พื้นที่ตามศักยภาพและความเหมาะสม ซึ่งจะช่วยสร้างโอกาสในการพัฒนาเมือง ให้มีการเติบโตที่ยั่งยืน และสร้างประโยชน์แก่ทุกคนอย่างทั่วถึง ประกอบกับรัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการจัดระบบเมืองที่มีคุณภาพ ปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมพร้อมกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาการใช้พื้นที่ให้เกิดความยั่งยืน โดยต้องมีการจัดทำนโยบายการตั้งถิ่นฐานและผังเมือง ด้วยการให้มีหน่วยงานระดับชาติกำกับดูแล และทำงานควบคู่ไปกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รวมถึงให้มีกฎหมายเฉพาะเหมือนเป็นธรรมนูญผังเมือง ในการกำกับกฎหมายอื่นๆไม่ให้หน่วยงานต่าง ๆ ละเมิด หรือปล่อยให้มีการพัฒนาเชิงพื้นที่ที่ไม่เป็นไปตามหลักการ
นอกจากนี้ พระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2562 ในมาตรา 7 ธรรมนูญว่าด้วยการผังเมืองที่คณะกรรมการนโยบายผังเมืองแห่งชาติจัดทำตามมาตรา 75 (8) เมื่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแล้ว มีผลผูกพันทุกหน่วยงานของรัฐและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องจะต้องดำเนินการต่อไปตามหน้าที่และอำนาจของตน
ในการนี้ กระทรวงมหาดไทย โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง ได้บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งจัดทำ (ร่าง) ธรรมนูญว่าด้วยการผังเมือง ภายใต้หลักการ 3 ด้าน ได้แก่ หลักการเชิงนโยบาย หลักการพื้นฐาน และหลักการเชิงพื้นที่ เพื่อให้ผังเมืองเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศที่ครอบคลุมในทุกระดับ โดยกำหนดให้มีการจัดสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นประกอบการจัดทำ (ร่าง) ธรรมนูญว่าด้วยการผังเมืองจากหน่วยงานราชการในระดับพื้นที่และระดับจังหวัด จำนวน 7 จังหวัด ได้แก่ กระบี่ ชุมพร ตรัง พังงา ภูเก็ต ระนอง และจังหวัดสตูล
ผู้เข้าร่วมประชุมฯ ประกอบด้วย บุคลากรของกรมโยธาธิการและผังเมืองที่เกี่ยวข้อง หน่วยงานราชการ ในระดับพื้นที่จังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ทรงคุณวุฒิ ภาคประชาสังคม ภายใต้การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ตอบโจทย์ การเป็นเครื่องมือสำคัญในการกำหนดทิศทางการพัฒนาเชิงพื้นที่ตามศักยภาพและความเหมาะสม มุ่งสู่การจัดระบบเมืองที่มีคุณภาพปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการสร้างการเติบโตของเมืองที่ยั่งยืน โดยประชาชนทุกคน และทุกภาคส่วนได้รับประโยชน์จากการพัฒนาเชิงพื้นที่อย่างทั่วถึง และเป็นธรรม
"การจัดสัมมนาในครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการขับเคลื่อนการจัดทำธรรมนูญว่าด้วยการผังเมือง ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการกำหนดทิศทางการพัฒนาเชิงพื้นที่ที่ครอบคลุมในทุกระดับ นำไปสู่การเสริมสร้างศักยภาพการพัฒนาเมืองแบบบูรณาการภายใต้การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพื่อสร้างประเทศให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน"