แบงก์คาด FED คงดอกเบี้ย 5.25% เหตุศก.สหรัฐ Q2 ยังขยายตัวสูง

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 6, 2007 15:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          ฝ่ายวิจัย ธนาคารทหารไทย (TMB) คาดว่า คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ในวันที่ 7 ส.ค. 50 จะยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ไว้ที่เดิมในอัตราร้อยละ 5.25 เป็นการตรึงต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 9 นับตั้งแต่เดือน มิ.ย. 49 ที่มีการปรับอัตราดอกเบี้ยครั้งล่าสุด 
สำหรับปัจจัยที่คาดว่าจะทำให้ FED ยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยเนื่องจากการที่เศรษฐกิจสหรัฐยังคงขยายตัวในเกณฑ์ดี ทำให้ความจำเป็นที่จะลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจมีโอกาสเกิดขึ้นน้อยลง
ในไตรมาส 2 ของปี 2550 เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัวร้อยละ 3.4 (q-o-q)จากร้อยละ 0.6 ในไตรมาสแรก เนื่องจากการลงทุนของภาคเอกชนเพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่ง ประกอบกับ ภาครัฐมีการใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น และยอดขาดดุลการค้าที่ปรับตัวลดลง ส่งผลให้เศรษฐกิจขยายตัวในอัตราสูงมาก นับตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2549 ที่เศรษฐกิจขยายตัวร้อยละ 4.8 และสูงกว่าอัตราคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.2
นอกจากนี้ เครื่องชี้กิจกรรมในภาคการผลิตและบริการยังอยู่ในเกณฑ์ขยายตัว
แต่อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจสหรัฐยังมีความเสี่ยงจากภาวะเงินเฟ้อ เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก(WTI)ที่ในช่วงต้นเดือนส.ค.50 ทรงตัวอยู่ในระดับสูงเกินกว่า 75 ดอลลาร์/บาร์เรล อาจกดดันให้อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐกลับมาขยับเพิ่มสูงขึ้นในไตรมาส 3 ของ ปี 2550 ประกอบกับ FED ยังมีความจำเป็นที่จะต้องตรึงอัตราดอกเบี้ยเพื่อดึงเงินลงทุนจากต่างประเทศมาชดเชยกับยอดขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่อยู่ในระดับสูงวันละประมาณ 2 พันล้านดอลลาร์
และการที่ FED ยังคงไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยในขณะนี้ เนื่องจากยังมีความจำเป็นต้องดำเนินนโยบายการเงินด้วยความระมัดระวัง เพราะอาจจะมีผลกระทบต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่กำลังเผชิญกับปัญหาที่เกิดขึ้นจากการผิดนัดชำระหนี้ของลูกหนี้ประเภท Subprime แม้ว่าจะช่วยลดภาระการผ่อนชำระของลูกหนี้
แต่อีกด้านหนึ่งก็อาจส่งผลเสียต่อภาวะฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ และจากปัญหาหนี้เสียในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่กำลังลุกลามไปยังภาคการเงิน ซึ่งบั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนและกดดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักในเวลานี้
อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลงก็ให้ผลด้านบวกต่อเศรษฐกิจผ่านการส่งออกที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดได้อีกทางหนึ่ง ดังนั้น การตรึงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้ เพื่อรอดูความชัดเจนของตัวเลขทางเศรษฐกิจต่อไปอีกระยะจะช่วยให้ FED สามารถประเมินผลกระทบต่าง ๆ ได้อย่างรอบคอบมากขึ้น
ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ก็มองในทิศทางเดียวกันว่า FED จะตรึงอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ไว้ที่ร้อยละ 5.25 ตามเดิม โดยน่าจะยังคงให้น้ำหนักหลักความเสี่ยงทางด้านเงินเฟ้อที่ยังไม่ปรับตัวลดลงมาอย่างชัดเจนเท่าที่คาดไว้ ขณะที่แม้ว่าจะมีสัญญาณที่บ่งชี้ถึงแนวโน้มการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจสหรัฐมากขึ้น แต่การปรับตัวของเครื่องชี้เศรษฐกิจจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่ได้มีทิศทางที่เลวร้ายจนจำเป็นต้องรีบผ่อนคลายนโยบายอัตราดอกเบี้ยลงในระยะใกล้
แต่ก็มีโอกาสมากขึ้นที่ FED อาจพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงภายในสิ้นปีนี้ โดยเฉพาะหลังจากที่ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรและดัชนีภาคการบริการของสถาบัน ISM ออกมาอ่อนแอกว่าที่คาดในเดือนกรกฎาคม ประกอบกับความวิตกกังวลที่มีอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับปัญหาในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐฯ ที่อาจขยายวงกว้างไปสู่ภาคเศรษฐกิจอื่น ซึ่งยังต้องติดตามการปรับตัวของเครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจและเงินเฟ้อของสหรัฐ ตลอดจนแถลงการณ์หลังการประชุมของ FED ที่อาจมีผลเปลี่ยนแปลงมุมมองเกี่ยวกับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยสหรัฐในระยะถัดไป
สำหรับผลกระทบต่อไทยนั้น ทิศทางอัตราดอกเบี้ย Fed Funds เป็นปัจจัยหนึ่ง แต่คงจะไม่ใช่ปัจจัยหลักที่คณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (กนง.) พิจารณาในการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ย แต่เศรษฐกิจสหรัฐฯที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง อาจจะทำให้เงินดอลลาร์ยังตกอยู่ภายใต้แรงกดดันให้อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลัก รวมทั้งเงินบาทของไทยอาจมีแนวโน้มแข็งค่า จะส่งผลกระทบต่อความสามารถทางการแข่งขันของภาคการส่งออกและการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย และอาจมีผลต่อการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยของกนง.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ