ธุรกิจส่งออกอาหารทยอยลดกำลังการผลิต หวั่นพิษบาทผันผวนทำขาดทุนอ่วม

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 16, 2007 11:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          ผู้ส่งออกอาหารเผยไม่กล้ารับคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเต็มที่ ขณะเดียวกันก็ทยอยลดกำลังการผลิต เพราะหวั่นทำมากขาดทุนมากจากผลกระทบปัญหาเงินบาทผันผวน และยังมีแนวโน้มแข็งค่าในอนาคต คาดสิ้นปีนี้ขาดทุน 6-10% ตามการแข็งค่าของเงินบาท 
**กลุ่มอาหารลดกำลังผลิต หวั่นผลิตมากเจ็บตัวมาก
นายไพบูลย์ พลสุวรรณา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้แม้จะยังไม่มีโรงงานส่งออกอาหารที่เป็นสมาชิกของ ส.อ.ท.ต้องปิดตัวจากผลกระทบปัญหาเงินบาทแข็งค่า แต่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ต่างลดกำลังการผลิตสินค้าลงและไม่สามารถรับคำสั่งซื้อจากต่างประเทศได้เต็มจำนวน
เนื่องจากผู้ประกอบการต่างกังวลกับปัญหาเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวนอย่างรวดเร็ว จนไม่สามารถคำนวณต้นทุนสินค้าได้ ซึ่งเท่ากับสูญเสียโอกาสในการส่งออก เพราะช่วงไตรมาสที่ 3 ของทุกปีถือเป็นช่วง peak ในการรับคำสั่งซื้อของอุตสาหกรรมส่งออกอาหารที่เตรียมส่งออกในช่วงคริสมาสต์และปีใหม่
"เหมือนกลัวงูจะฉก เราเคยโดนมาแล้ว ช่วงปลายปีที่แล้วจนถึงเดี๋ยวนี้ ตอนนี้เวลาเรารับ order จึงไม่กล้ารับเยอะ เป็นการสูญเสียโอกาสเพราะทุกปีช่วงสิงหาฯ-ตุลาฯ จะเป็นช่วง peak ของกลุ่มอาหารในการค้าขายกับต่างประเทศ เพราะต้องวางแผนซื้อ ตกลงราคาขายกันเพื่อส่งมอบให้ทันคริสมาสต์และปลายปี แต่ตอนนี้เราจะรับเท่าที่จำเป็น ไม่รับมากมาย เพราะเกรงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน" นายไพบูลย์ กล่าวกับ "อินโฟเควสท์"
**คาดปีนี้ส่งออกอาหารขาดทุนเกือบ 10% จากผลกระทบบาทแข็ง
นายไพบูลย์ คาดว่า การส่งออกกลุ่มอาหารของไทยในปีนี้จะขาดทุนประมาณ 6-10% จากผลกระทบเงินบาทแข็งค่า และปัญหาเศรษฐกิจในตลาดสหรัฐฯ แต่ทางออกของผู้ประกอบการคือพยายามหาตลาดอื่นทดแทน แต่เชื่อว่าคงไม่สามารถทดแทนได้มาก เพราะสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกอาหารที่สำคัญของไทยที่มีสัดส่วนถึง 65%
ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร กล่าวว่า สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องการเห็นมากที่สุดคือการสร้างเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยน เพราะมีผลโดยตรงกับการวางแผนล่วงหน้าในการทำการค้ากับต่างประเทศ เพราะแม้ผู้ส่งออกจะประกันความเสี่ยงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนไว้กับธนาคารแล้ว แต่ไม่สามารถป้องกันได้ทั้งหมด
ส่วนประเด็นที่ภาครัฐแนะให้ผู้ส่งออกต้องปรับตัวด้วยนั้น เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการดำเนินการมานานแล้ว เพราะถ้าไม่ทำตั้งแต่ช่วงก่อนหน้านี้ธุรกิจคงต้องทยอยปิดกิจการไปมากแล้ว
"อยากเห็นการสร้างเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยน ตรงนี้สำคัญสุดเพราะการรับคำสั่งซื้อ การวางแผนล่วงหน้าจะได้ทำได้ เพราะการประกันความเสี่ยงกับธนาคาร ทุกคนทำอยู่แล้ว แต่มันไม่สามารถปกป้องได้ทั้งหมด เรื่องปรับตัว ผู้ประกอบการทำมานานแล้ว ถ้าไม่ทำป่านนี้ก็เจ๊งไปนานแล้ว" นายไพบูลย์ กล่าว
**แรงงานจังหวัดประจวบฯ ยันไม่มีแนวโน้มปิดโรงงานตามข่าว
นายรักษ์ศักดิ์ โชติชัยสถิตย์ แรงงานจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ระบุว่า จากสถานการณ์เงินบาทแข็งค่าในช่วงที่ผ่านมาไม่ได้ส่งผลกระทบให้โรงงานอุตสาหกรรมใน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ต้องปิดกิจการหรือเลิกจ้างแรงงาน แต่เป็นเพียงการชะลอการผลิตในช่วงที่วัตถุดิบเข้าสู่โรงงานน้อย และยังไม่มีแนวโน้มว่าจะปิดกิจการจากปัญหาดังกล่าว
ทั้งนี้โรงงานอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ใน จ.ประจวบฯ เป็นโรงงานส่งออกสับปะรดกระป๋อง ซึ่งโรงงานขนาดใหญ่ต่างบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนอยู่แล้ว ขณะที่โรงงานขนาดกลางและขนาดเล็กอาจประสบปัญหากำไรลดลงบ้าง แต่ยังไม่ถึงกับต้องปิดกิจการ
"ข่าวที่ออกมาอาจจะคลาดเคลื่อน เพราะยังไม่มีแนวโน้มว่าจะปิดกิจการ ปกติแล้วช่วงนี้โรงงาน(สับปะรด)จะหยุดซ่อมหรือชะลอการผลิต เพราะ(ผลผลิต)สับปะรดมีน้อยก็ลดการจ้างคนงานบางส่วน แต่พอพ้นระยะนี้ไปก็เปิดเดินเครื่องได้ตามปกติ และจ้างคนงานกลับมาใหม่ตามเดิม มันเป็นการบริหารการตลาดของเขาเอง" แรงงานจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวกับ "อินโฟเควสท์"
ก่อนหน้านี้ โฆษกกระทรวงแรงงานออกมาระบุถึงสถานการณ์การเลิกจ้างแรงงานว่า โรงงานใน จ.ประจวบคีรีขันธ์ และ จ.สุโขทัย มีแนวโน้มที่จะปิดโรงงาน แต่ยังอยู่ระหว่างการใช้มาตรการชะลอการเลิกจ้าง โดยช่วงครึ่งปีแรกมีโรงงานปิดกิจการไปแล้ว 33 แห่งใน 9 จังหวัด มีผู้ถูกเลิกจ้างประมาณ 9,500 คน
นายรักษ์ศักดิ์ กล่าวว่า ปัญหาที่โรงงานอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ใน จ.ประจวบฯ ต้องเผชิญคือการขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากมีโรงงานอุตสาหรรมจำนวนมาก ทำให้แรงงานในพื้นที่ไม่เพียงพอกับความต้องการและจำเป็นต้องจ้างแรงงานต่างด้าวถึง 20%

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ