นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้เป็นประธานร่วมการประชุมคณะทำงานด้านการค้าและการลงทุนไทย-สหภาพยุโรป (อียู) ครั้งที่ 15 ผ่านระบบการประชุมทางไกล กับนายปีเตอร์ เบิร์ซ หัวหน้าฝ่ายเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ คณะกรรมาธิการยุโรปด้านการค้า เมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา โดยทั้งสองฝ่ายได้หารือแนวทางส่งเสริมความสัมพันธ์ทางการค้าการลงทุน และแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้าและการลงทุนระหว่างกัน รวมถึงสถานการณ์เศรษฐกิจในระดับประเทศ ภูมิภาค และโลก ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
ทั้งนี้ อียูชื่นชมไทยในการรับมือและควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 และเห็นว่าการผ่อนปรนการเดินทางเข้าประเทศของนักธุรกิจและนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างสมดุลและคำนึงถึงความปลอดภัยด้านสุขภาพ มีส่วนสำคัญในการช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งทั้งสองฝ่ายย้ำความสำคัญของระบบการค้าแบบเปิด และการหลีกเลี่ยงการใช้มาตรการกีดกันทางการค้าโดยไม่จำเป็น ที่จะมีส่วนช่วยการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยและอียูหลังวิกฤตโควิด-19
อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ฝ่ายไทยได้แจ้งให้อียูทราบว่า ไทยอยู่ระหว่างดำเนินการทบทวน ปรับปรุง และยกเลิกกฎหมายและกฎระเบียบที่ล้าสมัย มีความซ้ำซ้อน และเป็นอุปสรรคในการประกอบอาชีพของประชาชน ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการทำธุรกิจ และที่ผ่านมาถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธนาคารโลกจัดอันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ (ease of doing business) ของไทย ในปี 2563 อยู่ในอันดับที่ 21 จากที่เคยอยู่ในอันดับที่ 27 ในปี 2562 ขณะที่อียูสนใจสอบถามเรื่องการลงนามความตกลง RCEP และเห็นว่าทั้งสองฝ่ายควรหารือพิจารณาความพร้อมและเหมาะสมที่จะฟื้นการเจรจาเอฟทีเอ ไทย-อียู ที่หยุดชะงักมาตั้งแต่ปี 2557 อย่างใกล้ชิดต่อไป
พร้อมกันนี้ฝ่ายไทยได้สอบถามความคืบหน้าเรื่องเบร็กซิท (Brexit) กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดมาตรฐานน้ำมันรำข้าวของอียู นโยบายของอียูในการคัดกรองการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ นโยบาย Green Deal เพื่อสิ่งแวดล้อม และมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของอียู ขณะที่อียูสนใจเรื่องการปรับปรุงทบทวนธุรกิจที่จะให้การอนุญาตตามกฎหมายการประกอบธุรกิจของต่างด้าว นโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลของไทย และการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยี 5 G
สำหรับอียูเป็นคู่ค้าสำคัญลำดับที่ 5 ของไทย ในปี 2562 การค้าสองฝ่ายมีมูลค่า 38,227.93 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 7.92% ของการค้าไทยกับโลก โดยไทยส่งออกไปอียูมูลค่า 19,735.86 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าจากอียูมูลค่า 18,492.07 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับในช่วงเดือน ม.ค.-ต.ค. 2563 การค้าไทย-อียูมีมูลค่า 27,341.42 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยส่งออกไปอียูมูลค่า 14,576.17 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าจากอียูมูลค่า 12,765.25 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปอียู เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบรถยนต์ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบรถยนต์ เป็นต้น ส่วนสินค้านำเข้าสำคัญของไทยจากอียู เช่น เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ เป็นต้น