สบน. แจงกระแสข่าวหนี้สาธารณะปี 2564 ทะลุเพดานไม่เป็นความจริง

ข่าวเศรษฐกิจ Saturday December 12, 2020 14:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ตามที่มีการเผยแพร่ข่าวว่า "ธนาคารโลก รายงานประเด็นเศรษฐกิจไทยจะเผชิญภาวะวิกฤตอย่างรุนแรง หนึ่งในปัญหาสำคัญที่สุด คือ ตัวเลขหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นทะลุเพดานสูงสุดในรอบ 18 ปี ซึ่งเกิดจากรัฐบาลกู้เงินจำนวน 1.9 ล้านล้านบาท คิดเป็น 13% ของ GDP" นั้น

นางจินดารัตน์ วิริยะทวีกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ชี้แจงว่า ข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริง และขอชี้แจงในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับหนี้สาธารณะ ดังนี้

สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อชีวิตและสุขภาพอนามัยของประชาชนทุกสาขาอาชีพในวงกว้าง (Pandemic) การดำเนินมาตรการควบคุมและยับยั้งการแพร่ระบาด ส่งผลให้การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจของทุกภาคส่วนทั่วโลกเกิดภาวะชะงักงันอย่างฉับพลัน นอกจากนี้ ยังส่งผลกระทบอย่างรุนแรงและขยายเป็นวงกว้างทั่วโลก และยังไม่สามารถคาดการณ์การหยุดการระบาดได้

ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 อย่างรุนแรงเช่นกัน รัฐบาลจึงได้ตราพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เพื่อรองรับผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 จำนวน 3 ฉบับ ได้แก่ 1) พ.ร.ก. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน วงเงิน 1 ล้านล้านบาท 2) พ.ร.ก. ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 วงเงิน 500,000 ล้านบาท และ 3) พ.ร.ก. การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ วงเงิน 400,000 ล้านบาท

"พ.ร.ก. ฉบับที่ 2 และ 3 เป็นการช่วยเหลือทางการเงินและการรักษาเสถียรภาพทางการเงิน มิได้เป็นการกู้เงินเพื่อนำไปดำเนินงาน จึงไม่นับเป็นหนี้สาธารณะ ดังนั้น สรุปได้ว่ารัฐบาลจะมีภาระจากการกู้เงินโดยตรงเพียง 1 ล้านล้านบาท มิใช่ 1.9 ล้านล้านบาท ซึ่งปัจจุบัน กระทรวงการคลังดำเนินการกู้เงินภายใต้ พ.ร.ก. ดังกล่าวแล้วจำนวน 348,761 ล้านบาท" รองผู้อำนวยการ สบน.กล่าว

สำหรับหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2563 มีจำนวนทั้งสิ้น 7.8 ล้านล้านบาท โดยมีสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) เท่ากับ 49.53% ซึ่งยังคงอยู่ภายใต้กรอบวินัยทางการคลัง ซึ่งกำหนดไว้ไม่เกิน 60% ขณะที่ปี 2543 มีสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP สูงสุดเท่ากับ 59.98% เนื่องจากประสบกับวิกฤติของสถาบันการเงินในประเทศ

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาสัดส่วนหนี้ภาครัฐบาล (General Government Debt) พบว่า รัฐบาลไทยมีหนี้อยู่ในระดับต่ำ (44.37%) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ และกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชีย (Emerging and Developing Asia Countries) ซึ่งมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 62.89% นอกจากนี้ สัดส่วนของไทยยังอยู่ในเกณฑ์เฉลี่ยเมื่อเทียบกับประเทศในกลุ่ม ASEAN และประเทศกำลังพัฒนาด้วยกัน เนื่องจากหนี้สาธารณะส่วนใหญ่ เกิดจากการกู้เพื่อเป็นรายจ่ายลงทุนในระบบงบประมาณ และการกู้เพื่อลงทุนในโครงการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมด้านต่างๆ ซึ่งส่งผลให้ GDP ของประเทศเกิดการขยายตัวตามไปด้วย

นอกจากนี้ บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือระดับสากล ได้แก่ S&P Moody?s และ Fitch ได้คงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยที่ BBB+ และคงมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Outlook) อยู่ในระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook) เนื่องจากประเทศไทยมีภาคการคลังสาธารณะ (Public Finance) ที่แข็งแกร่ง เป็นผลจากการบริหารจัดการทางการคลังอย่างรอบคอบ และรักษาวินัยทางการคลังอย่างเคร่งครัด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ