คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันนี้ มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วันไว้ที่ 3.25% ต่อปี
หลังจากที่อัตราเงินเฟ้อไม่ได้เปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับการประชุมครั้งก่อน และยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำ ส่วนหนึ่งเพราะการใช้จ่ายของภาคเอกชนยังฟื้นตัวไม่เต็มที่
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการฯ จะยังคงติดตามผลกระทบซับไพร์มต่อเศรษฐกิจไทยต่อไป ก่อนจะมีการพิจารณาปรับเป้าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยต่อไป
นางสุชาดา กิระกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)แถลงผลการประชุม กนง.วันนี้ว่า ที่ประชุมเห็นว่า ขณะนี้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงยังเป็นบวก 0.30% ถือว่าไม่เป็นอุปสรรคต่อการอุปโภคบริโภคช่วงครึ่งปีหลัง เนื่องจาก กนง.ได้ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 50 จนถึงปัจจุบันรวม 5 ครั้งแล้ว
ดังนั้น ที่ประชุมจึงเห็นว่าควรจะใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่งเพื่อติดตามผลของการส่งผ่านนโยบายการเงิน
"แบงก์ชาติลดดอกเบี้ยมา 5 ครั้งแล้วในปีนี้ ขอรอดูผลระยะหนึ่งก่อน การส่งผ่านนโยบายการเงินต้องใช้เวลา ต้องมี time-lap"
นางสุชาดา กล่าว
นอกจากนั้น ยังจะต้องติดตามผลกระทบจากปัญหาซับไพร์มว่าจะเกิดเป็นวงกว้างหรือไม่ ทั้งต่อด้านตลาดเงิน ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และ เศรษฐกิจระหว่างประเทศ ซึ่งอาจส่งผลกระทบทางอ้อมมายังเศรษฐกิจไทย รวมทั้งจะต้องติดตามการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลสหรัฐว่าจะได้ผลเพียงใด
อย่างไรก็ตาม หากไม่มีปัจจัยสำคัญทางเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงมากนัก ก็คาดว่าเศรษฐกิจของประเทศจะขยายตัวอยู่ในช่วงประมาณการ 4-5% ในปีนี้ เพราะปัญหาซับไพร์มก็เกิดขึ้นหลังจากผ่านมาถึงปลายไตรมาส 3 ใกล้เข้าสู่ไตรมาส 4 ของปีนี้ และธนาคารกลางหลายประเทศก็กำลังเร่งอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบเพื่อแก้ไขปัญหาแล้ว
และแม้ว่าการส่งออกในครึ่งปีหลังจะชะลอตัว แต่ก็เป็นเรื่องที่ประเมินไว้แล้ว จึงเชื่อว่าจะไม่มีผลกระทบต่อคาดการณ์ว่าการส่งออกในปีนี้จะขยายตัวในระดับ 112-15% โดยเฉพาะหากการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังยังขยายตัวได้ 6-12% แต่ธปท.ก็จะติดตามข้อมูลการส่งออกในช่วงเดือนก.ค.ที่ขยายตัวลดลงมาเหลือเพียง 5.9% ว่าเป็นปัจจัยชั่วคราวหรือต่อเนื่อง
สำหรับอุปสงค์ในประเทศที่อ่อนตัวต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมานั้น เริ่มเห็นสัญญาณเร่งตัวขึ้นบ้างแล้ว แต่ยังต้องติดตามดูต่อไป แต่หากเศรษฐกิจของไทยในช่วงไตรมาส 2/50 ขยายตัวอยู่ในช่วง 4% กว่า ๆ เช่นดียวกับไตรมาส 1/50 ที่ขยายตัวได้ 4.3% ก็คาดว่าทั้งปีเศรษฐกิจก็น่าจะเติบโตได้ 4-5% ตามที่คาด เพราะขณะนี้อุปสงค์เร่งตัวจากการที่ภาครัฐเร่งใช้จ่าย ขณะที่ในด้านการอุปโภคบริโภคนั้นเครื่องชี้ล่าสุดเห็นแนวโน้มเร่งตัวขึ้นเช่นกัน ยิ่งหากมองผลการลดดอกเบี้ยนโยบายในช่วงที่ผ่านมาก็เชื่อว่าครึ่งปีหลังน่าจะดีขึ้นด้วย
--อินโฟเควสท์ โดย ธปฦ/รัชดา โทร.0-2253-5050 ต่อ 317 อีเมล์: rachada@infoquest.co.th--