สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)ตั้งแถวแสดงความเห็นและให้ข้อเสนอแนะรัฐบาลดูแลปัญหาการแข็งค่าของเงินบาท โดยรักษาการประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนา(ทีดีอาร์ไอ)แทนนายฉลองภพ สุสังกร์กาญน์ ที่ข้ามห้วยมารับตำแหน่งรมว.คลัง ประเดิมเปิดเวทีแนะรัฐบาลจัดทำยุทธศาตร์ดูแลอัตราแลกเปลี่ยนและวางกรอบนโยบายให้ชัดเจน รวมถึงการประสานยุทธศาสตร์ร่วมกันให้มากขึ้นระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ขณะที่อดีตประธานสมาคมธนาคารไทยแนะใช้มาตรการดอกเบี้ย หรือเก็บภาษีขาออกของเงินทุนต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนระยะสั้น เพื่อรักษาเสถียรภาพเงินบาท
นายอัมมาร สยามวาลา สมาชิก สนช.ในฐานะรักษาการประธานทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ปัญหาใหญ่ของประเทศในขณะนี้คือการไหลเข้า-ออกของเงินตราต่างประเทศที่มีจำนวนมหาศาลเกินกว่าพื้นฐานเศรษฐกิจไทยจะรับได้ เป็นผลจากต่างชาติคาดหวังว่าจะเข้ามาหาผลตอบแทนที่ดี แต่ไม่ใช่เป็นเพราะมองว่าพื้นฐานเศรษฐกิจของไทยดี
และปัญหาอีกประการคือการปล่อยให้เงินบาทลอยตัวได้อย่างเสรีมากกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค เพราะแม้ว่าประเทศไทยจะใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัว แต่ก็เป็นแบบ Manage float คือลอยตัวแบบมีการจัดการ แต่สิ่งที่ปฏิบัติอยู่เป็นลักษณะการ float มากกว่า manage ดังนั้นเงินบาทจึงแข็งค่าในอัตราที่สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน
นายอัมมาร เสนอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กำหนดกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทให้อยู่ในระดับที่ดุลบัญชีเดินสะพัดสามารถขาดดุลไปจนถึงเกินดุลไม่เกิน 2%
อย่างไรก็ดี ยอมรับว่าการที่ธปท.ยึดอัตราเงินเฟ้อเป็นเป้าหมายในการดูแลนโยบายการเงินถือว่าเป็นสิ่งที่ดีและมีความเหมาะสมกับสถานการณ์ในระยะที่ผ่านมา แต่หลังจากเงินบาทแข็งค่าขึ้นมาก นโยบายดังกล่าวก็ถือว่าไม่เหมาะกับภาวะในช่วงนี้ เพราะเงินเฟ้อไม่ได้เป็นเป้าหมายเดียวที่ธปท.ต้องดู แต่ยังมีปัจจัยอื่นที่ต้องคำนึงและควรยึดเป็นเป้าหมายด้วย เช่น GDP
ส่วนมาตรการกันสำรอง 30% ที่ธปท.ออกมาก่อนหน้านี้ถือว่าเป็นมาตรการที่เฉียบพลันเกินไป เพราะไม่เพียงทำให้เศรษฐกิจไทยปั่นป่วนแล้ว ยังทำให้นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศปั่นป่วนด้วย ดังนั้นการออกมาตรการใดๆ ก็ตามควรพิจารณาอย่างรอบคอบถึงการปฏิบัติได้จริงเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประเทศ
ด้านคุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม สมาชิก สนช.กล่าวว่า ปัญหาเงินบาทในประเทศขณะนี้ คือ เงินบาทไม่มีเสถียรภาพ นอกจากนี้เงินบาทยังแข็งค่าในอัตราที่มากกว่าประเทศคู่แข่ง ซึ่งส่งผลกระทบต่อความสามารถทางการแข่งขันด้านการส่งออกของไทย
ทั้งนี้การที่เงินบาทแข็งค่าหากเกิดในช่วงที่เศรษฐกิจของประเทศอยู่ในภาวะปกติก็ถือเป็นผลดี แต่ในภาวะปัจจุบันไม่เป็นเช่นนั้น จึงควรมีมาตรการเข้ามาปกป้องผลกระทบที่เกิดขึ้น ดังนั้นทางการควรจะดูแลและเลือกใช้เครื่องมือที่จะบริหารจัดการค่าเงินบาทให้เหมาะสมเพื่อให้เงินบาทมีเสถียรภาพ
สำหรับเครื่องมือและนโยบายของทางการในการบริหารจัดการเรื่องค่าเงินนั้น ควรจะหาเครื่องมือทางนโยบายที่ช่วยให้ค่าเงินบาทมีเสถียรภาพไม่หวือหวาเกินไป เช่น ใช้นโยบายดอกเบี้ยหรือใช้มาตรการทางภาษี ทั้งนี้ในส่วนของมาตรการทางภาษีนั้นเสนอให้จัดเก็บภาษีเงินทุนขาออก (Exit Tax) โดยเรียกเก็บภาษีของเงินลงทุนในระยะสั้นให้สูงกว่าเงินที่จะเข้ามาลงทุนในระยะยาว ทั้งนี้เพื่อป้องกันการเข้ามาเก็งกำไรค่าเงิน
--อินโฟเควสท์ โดย อภิญญา วุฒิเมธากุล/กษมาพร/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--