พาณิชย์ แนะเอกชนติดตามนโยบายการค้าใกล้ชิด นับถอยหลังสู่ Brexit ปี 64

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 17, 2020 15:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ติดตามสถานการณ์กรณีสหราชอาณาจักร (ยูเค) หรืออังกฤษ จะออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) อย่างสมบูรณ์ หรือ Brexit ในวันที่ 1 มกราคม 2564 และยูเคจะเริ่มใช้นโยบายและมาตรการทางการค้าของตนเอง ซึ่งเบื้องต้นประเมินว่านโยบายการค้าของยูเคภายหลังเบร็กซิทจะผ่อนคลายและยืดหยุ่นกว่าของอียู เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผู้บริโภคและผู้ประกอบการในยูเค รวมถึงเอื้อต่อการพัฒนาเป็น "trading nation" ของยูเคภายหลัง Brexit

นางอรมน กล่าวว่า สำหรับนโยบายและมาตรการทางการค้าสำคัญของยูเค ที่จะส่งผลต่อการส่งออกของไทยภายหลัง Brexit คือ 1) ยูเคจะยกเลิกภาษีศุลกากรที่เก็บกับสินค้านำเข้าคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 48% ของรายการสินค้าทั้งหมด ซึ่งประเทศที่ยังไม่มีความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับยูเค รวมถึงไทยจะได้รับประโยชน์จากมาตรการดังกล่าว โดยสินค้าที่จะยกเลิกภาษีนำเข้าหลัง Brexit ทันที อาทิ ผลไม้ อาหารที่จัดทำไว้สำหรับการเลี้ยงสัตว์ เวชภัณฑ์ เศษของโลหะมีค่า เครื่องประมวลผลข้อมูลอัตโนมัติ และวงจรพิมพ์ 2) ยูเคจะลดอัตราภาษีสินค้านำเข้าเหลือ 2-10% เป็นสัดส่วน 30% ของรายการสินค้าทั้งหมด อาทิ เครื่องเพชรพลอยและรูปพรรณชุบโลหะ ซอสและของปรุงแต่งสำหรับทำซอส ข้าวกล้อง และข้าวขาว

3) ยูเคยังคงเก็บภาษีนำเข้า 12-70% กับสินค้าประมาณ 10% ของรายการสินค้าทั้งหมด อาทิ เครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์ ยาสูบ สินค้าประมงแปรรูป เสื้อผ้า และผลไม้แปรรูปบางประเภท และ 4) ยูเคจะใช้มาตรการภาษีเฉพาะหรือกำหนดโควตานำเข้ากับสินค้าประมาณ 10% ของรายการสินค้าทั้งหมด อาทิ สัตว์ปีกมีชีวิตและแปรรูป ผลิตภัณฑ์นม ธัญพืช น้ำตาล และแป้ง

ทั้งนี้ เมื่อประเมินข้อมูลการค้าไทย-ยูเค ในช่วงปี 2560-2562 พบว่า จะช่วยประหยัดภาษีศุลกากรที่ผู้ส่งออกไทยต้องจ่ายให้ยูเคประมาณ 737 ล้านบาทต่อปี นอกจากนี้ ยูเคจะยกเลิกการเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) กับสินค้าไทยที่เคยถูกเรียกเก็บ AD จากอียู 4 รายการ ได้แก่ ข้าวโพดหวานแปรรูป ข้อต่อท่อเหล็กหล่ออบเหนียวสลักเกลียว รถลากด้วยมือ และผ้าตาข่ายใยแก้ว

นางอรมน กล่าวเพิ่มเติมว่า Brexit ยังทำให้ยูเคและอียูต้องเจรจาปรับปริมาณโควตาในรายการสินค้าต่างๆ ที่เคยผูกพันโควตาภาษีไว้กับสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) ซึ่งภายหลัง Brexit โควตาเหล่านี้จะแยกเป็น 2 กลุ่ม คือ 1) โควตาที่ยูเคจะจัดสรรให้ประเทศคู่ค้า และ 2) โควตาเข้าสู่ตลาดอียู 27 ประเทศ

โดยล่าสุด ไทยสามารถสรุปผลการเจรจาจัดสรรโควตากับยูเคและกับอียูได้แล้ว ซึ่งโควตาใหม่ที่ไทยได้รับจากยูเคและอียู เมื่อรวมกันแล้วจะไม่น้อยกว่าปริมาณโควตาเดิมที่ไทยเคยได้รับจากอียู จากปริมาณโควตาที่ปรับใหม่ ทำให้ทราบถึงปริมาณการส่งออกจากไทยไปยูเคและอียูที่แท้จริง เช่น ไก่หมักเกลือ เนื้อไก่ปรุงสุก และเนื้อไก่แปรรูป เป็นต้น

โดยเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2563 รัฐสภาไทยได้เห็นชอบผลการเจรจาโควตาระหว่างไทยกับอียูและกับยูเคแล้ว และคาดว่าปริมาณโควตาใหม่จะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการเกิดความมั่นใจและสามารถวางแผนธุรกิจและการส่งออกไปยูเคและอียู

เสริมว่า กรมฯ ยังอยู่ระหว่างการหารือกับยูเคเพื่อจัดทำรายงานการทบทวนนโยบายการค้าร่วม (Joint Trade Policy Review) และจัดทำบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding: MoU) เพื่อจัดตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเศรษฐกิจและการค้า (Joint Economic and Trade Committee: JETCO) กับยูเค ในระดับรัฐมนตรี ซึ่งจะเป็นเวทีหารือส่งเสริมความร่วมมือและแก้ปัญหาและอุปสรรคทางการค้าและการลงทุนระหว่างกัน

อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ได้มอบให้บริษัท โบลลิเกอร์ คอมพานี (ประเทศไทย) จำกัด) ศึกษาประโยชน์และผลกระทบของการจัดทำ FTA ระหว่างไทยและยูเค ตลอดจนจัดรับฟังความเห็นจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อรวบรวมข้อมูลเสนอระดับนโยบายพิจารณาตัดสินใจในเรื่องการเจรจาเอฟทีเอกับยูเคต่อไป โดยจะต้องรอความพร้อมของฝ่ายยูเคเช่นกัน ซึ่งล่าสุดยูเคได้สรุปผลการเจรจาจัดทำ FTA กับ 30 ประเทศคู่ค้าเดิมที่เคยมี FTA ด้วยกันสมัยที่ยูเคยังเป็นสมาชิกอียู เช่น สิงคโปร์ เวียดนาม แคนาดา เม็กซิโก และญี่ปุ่น เป็นต้น

"ภาคธุรกิจของไทย ควรติดตามพัฒนาการด้านนโยบายการค้าของยูเคอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าของยูเคกับอียู เนื่องจากหากยังไม่สามารถตกลงกันได้ทันสิ้นปีนี้ ทั้งสองฝ่ายอาจจะดำเนินการค้าระหว่างกันภายใต้กฎระเบียบ WTO คือ มีการกำหนดภาษีและข้อจำกัดทางการค้าระหว่างกัน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของยูเคและอียู ที่มีความเชื่อมโยงของห่วงโซ่การผลิตที่ใกล้ชิด และการพึ่งพิงการค้าระหว่างกันในระดับสูง" นางอรมนกล่าว

ทั้งนี้ ในปี 2562 มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับยูเค อยู่ที่ 6,264 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 1.3% ของการค้าทั้งหมดของไทย สำหรับในเดือน ม.ค.-ต.ค.63 การค้าระหว่างสองฝ่ายมีมูลค่า 4,103 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยส่งออกไปยูเคมูลค่า 2,578 ล้านเหรียญสหรัฐ และไทยนำเข้าจากยูเคมูลค่า 1,525 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ เช่น ไก่แปรรูป รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และแผงวงจรไฟฟ้า เป็นต้น สินค้านำเข้าที่สำคัญ เช่น เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม และเครื่องจักรไฟฟ้า เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ