ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 23 ธ.ค.นี้ คณะกรรมการฯ จะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ตามเดิม เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยยังมีสัญญาณทยอยฟื้นตัว และน่าจะได้รับอานิสงส์ต่อเนื่องจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและประคองกำลังซื้อของภาครัฐ หลังจากที่ล่าสุด ได้มีการขยายเวลาสำหรับโครงการคนละครึ่ง รวมถึงเพิ่มวงเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐฯ ซึ่งจะเป็นส่วนช่วยสนับสนุนบรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศไปจนถึงช่วงไตรมาสแรกของปี 2564
อย่างไรก็ดี จากที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังคงอยู่ในระยะเริ่มแรก ทำให้คาดว่า กนง. จะยังคงประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วงปีข้างหน้าอย่างระมัดระวัง แม้อาจจะมีมุมมองที่ดีขึ้นต่อตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจไทย จากคาดการณ์ปัจจุบันที่ -7.8% ในปี 2563 และที่ขยายตัว 3.6% ในปี 2564 ก็ตาม
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า จุดจับตาสำคัญจะอยู่ที่ความต่อเนื่องของเส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 ซึ่งมีโอกาสเผชิญความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของหลายๆ ปัจจัย โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งในและต่างประเทศ ที่จะยังคงเป็นปัจจัยฉุดรั้งแรงขับเคลื่อนจากภาคการส่งออกและภาคการท่องเที่ยว
ขณะที่สถานการณ์เงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง ตามปัจจัยพื้นฐานของไทยที่เกิดจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด และทิศทางอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ฯ ตามสัญญาณผ่อนคลายทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ ก็อาจเพิ่มแรงกดดันและมีผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังมีความเปราะบางด้วยเช่นกัน
"หากเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสแรกของปี 2564 ส่งสัญญาณการฟื้นตัวที่แผ่วลงมาก ก็มีความเป็นไปได้ที่ กนง. อาจจะส่งสัญญาณพร้อมใช้เครื่องมือดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติม และทบทวนมาตรการทางด้านการเงิน และมาตรการสินเชื่อให้มีความเหมาะสม รวมถึงเร่งผลักดันให้สถาบันการเงินปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ เพื่อปรับความช่วยเหลือให้ตรงจุด ลดผลกระทบต่อภาคธุรกิจและครัวเรือน และสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในภาพรวม" บทวิเคราะห์ระบุ
นอกจากนี้ ยังต้องรอติดตามท่าทีและการดูแลโจทย์สถานการณ์เงินบาทแข็งค่า หลังจากที่ล่าสุด เงินบาทแข็งค่าหลุดแนวสำคัญทางจิตวิทยาที่ 30.00 บาท/ดอลลาร์ฯ มาแตะระดับ 29.83 บาท/ดอลลาร์ฯ ซึ่งนับเป็นระดับแข็งค่าสุดในรอบ 7 ปีครึ่ง หลังรายงานการประเมินนโยบายเศรษฐกิจและอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศคู่ค้าสำคัญของสหรัฐฯ จัดให้ประเทศไทยอยู่ในกลุ่ม Monitoring List ซึ่งเป็นบัญชีรายชื่อประเทศที่สหรัฐฯ จะติดตามทิศทางนโยบายเศรษฐกิจมหภาค และอัตราแลกเปลี่ยนในช่วงหลังจากนี้อย่างใกล้ชิด
ทั้งนี้ การเข้าไปอยู่ในบัญชี Monitoring List ของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ อาจทำให้นักเก็งกำไร และผู้เล่นในตลาดเงิน-ตลาดทุนมองว่า ธนาคารกลางของประเทศนั้นๆ น่าจะเผชิญข้อจำกัด และอาจต้องดำเนินการอย่างระมัดระวังมากขึ้นในการเข้าแทรกแซงตลาดอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อดูแลความเคลื่อนไหวสกุลเงินของประเทศตัวเอง
"สาเหตุที่ทำให้ไทยติดอยู่ในบัญชี Monitoring List ของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ มาจากปัจจัยเชิงโครงสร้างของไทย ซึ่งคือเรื่องการเกินดุลการค้า และดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูง แต่คงต้องยอมรับว่า สถานการณ์ดังกล่าวเสมือนเป็นการตอกย้ำโจทย์เงินบาทแข็งค่าที่น่าจะเกิดขึ้นต่อเนื่องในปี 2564 ท่ามกลางความผันผวนที่เพิ่มมากขึ้น" บทวิเคราะห์ระบุ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า สำหรับประเทศไทยนั้น แม้การมีชื่อติดในบัญชี Monitoring List อาจไม่มีผลทางตรงกับการดำเนินนโยบายเพื่อดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงินในประเทศ แต่แรงกดดันด้านแข็งค่าของเงินบาทที่เพิ่มขึ้นภายใต้เงื่อนไขดังกล่าว จะกลายเป็นโจทย์ที่มีความซับซ้อนมากขึ้นสำหรับทางการไทย เพราะเงินบาทที่แข็งค่าและมีแนวโน้มผันผวนมากขึ้น ย่อมมีผลกระทบต่อภาคการส่งออกและเศรษฐกิจในภาพรวม และอาจมีผลทำให้อัตราเงินเฟ้อเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบที่ค่อนข้างต่ำเป็นเวลานาน ซึ่งหากสถานการณ์ลากยาวและเศรษฐกิจเผชิญความเสี่ยงเพิ่มขึ้น แรงกดดันและความจำเป็นต่อการพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน