(เพิ่มเติม1) ครม.ให้ปรับปรุง กม.ร่วมทุนเอกชน เพิ่มมูลค่าขั้นต่ำโครงการเป็น 3 พันลบ.

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 4, 2007 15:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบหลักการร่างแก้ไข พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการกิจการของรัฐ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยจะมีการปรับมูลค่าขั้นต่ำของโครงการที่จะต้องเข้าข่ายกฎหมายฉบับนี้เป็น 3 พันล้านบาท จากเดิม 1 พันล้านบาท เพื่อให้สอดคล้องกับโครงการในปัจจุบัน เพราะที่ผ่านมาขนาดโครงการของภาครัฐเฉลี่ยจะอยู่ในระดับ 3 พันล้านบาท
ส่วนโครงการที่มีมูลค่าต่ำกว่า 3 พันล้านบาทจะเป็นอำนาจของกระทรวงการคลังในการหลักเกณฑ์เงื่อนไขในการให้เอกชนเข้ามาร่วมงาน เพื่อให้เกิดความคล่องตัว
นายพงษ์ภาณุ กล่าวต่อว่า ครม.ยังมอบหมายให้กระทรวงการคลังและสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์)ไปทบทวนมูลค่าขั้นต่ำของโครงการทุก 5 ปี เพื่อให้เกิดความเหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน
นอกจากนี้ จะมีการตั้งคณะกรรมการกำกับการติดตามโครงการให้มีอำนาจดูแลปรับปรุงแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย
"หลังจากวันนี้ไปจะเสนอร่างดังกล่าวเข้าสู่คณะกรรมการกฤษฎีกาในสัปดาห์หน้า อาจจะเป็นวันอังคารหรือพฤหัส และเชื่อว่าอีก 2 สัปดาห์จะเสนอเข้าสู่ สนช." นายพงษ์ภาณุ กล่าว
สบน. ระบุว่า การแก้ไขฎหมายดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาการตีความและอุดช่องว่างในการบังคับใช้กฎหมาย รวมถึงปรับปรุงกระบวนการพิจารณากลั่นกรองโครงการ การบริหารและกำกับการดำเนินโครงการให้เป็นระบบและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
สาระสำคัญ ได้มีการปรับนิยาม “การร่วมงานหรือดำเนินการ" ให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยให้ครอบคลุมถึงกรณีโครงการที่ให้เอกชนลงทุนไปก่อนและภาครัฐผูกพันที่จะชำระคืนการลงทุนภายหลัง เช่น โครงการจ้างเหมาเบ็ดเสร็จ (Turnkey) และให้กระทรวงการคลังสามารถออกกฎกระทรวงเพื่อกำหนดรูปแบบการลงทุนที่เห็นว่ามีลักษณะเป็นการร่วมงานหรือดำเนินการกับภาคเอกชนได้
ปรับมูลค่าขั้นต่ำของโครงการจาก 1,000 ล้านบาท เป็น 3,000 ล้านบาท เพื่อให้สอดคล้องกับขนาดของโครงการลงทุนในปัจจุบัน โดยให้กระทรวงการคลังและสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ร่วมกันทบทวนมูลค่าขั้นต่ำของโครงการทุกๆ 5 ปี และให้กระทรวงการคลังกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไขและวิธีการดำเนินการสำหรับโครงการที่ให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการซึ่งมีมูลค่าต่ำกว่า 3,000 ล้านบาท เพื่อให้มีหลักเกณฑ์ในการกำกับดูแลโครงการดังกล่าวอย่างเหมาะสมและเป็นมาตรฐานเดียวกัน
และ ให้กระทรวงการคลังกำหนดหลักเกณฑ์ในการประเมินมูลค่าโครงการให้อยู่ภายใต้มาตรฐานเดียวกัน ทั้งนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาการคำนวณวงเงินและทรัพย์สินของโครงการที่มีในอดีต เช่น กรณีการคำนวณวงเงินลงทุนของโครงการร้านค้าปลอดภาษีของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
การพิจารณากลั่นกรองโครงการ
ปรับปรุงวิธีการพิจารณากลั่นกรองโครงการโดยกำหนดให้ทั้ง สศช. และกระทรวงการคลังเป็นผู้พิจารณาทุกโครงการ ไม่ว่าจะเป็นโครงการใหม่ หรือโครงการที่มีทรัพย์สินอยู่แล้ว ทั้งนี้ ให้ สศช. เป็นผู้พิจารณาความสอดคล้องของโครงการกับยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศ และความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม และให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ประเมินเงื่อนไขทางการเงิน และความคุ้มค่าในการให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนเปรียบเทียบกับกรณีที่ภาครัฐเป็นผู้ลงทุนเอง (Value for Money) ทั้งนี้ เพื่อให้การวิเคราะห์โครงการ มีมาตรฐานเดียวกัน มีภาพรวมของโครงการร่วมงานหรือดำเนินการกับเอกชน และลดปัญหาการมีส่วนได้ส่วนเสียของโครงการในกรณีที่กระทรวงการคลัง หรือ สศช. เป็นเจ้าของโครงการเอง
การบริหารและกำกับการดำเนินโครงการ
กำหนดให้มีกระบวนการแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญาและการดำเนินการเมื่อสิ้นสุดสัญญา กำหนดขั้นตอนในการดำเนินการในกรณีมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญาและการสิ้นสุดสัญญาให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น และให้มี “คณะกรรมการกำกับติดตามโครงการ" เพื่อกำกับการบริหารและกำกับการดำเนินโครงการที่ชัดเจนยิ่งขึ้น
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
1) การแก้ไขพระราชบัญญัติการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 ดังที่กล่าวมาข้างต้นเป็นไปตามวัตถุประสงค์และนโยบายที่จะให้กฎหมายมีความชัดเจนและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น และสอดคล้องกับสภาวการณ์ในปัจจุบัน ลดปัญหาที่ต้องตีความกฎหมาย และการหลีกเลี่ยงกฎหมายที่เกิดขึ้นในอดีต
2) ปรับเปลี่ยนกระบวนการกลั่นกรองโครงการร่วมงานหรือดำเนินการกับเอกชนที่ให้โครงการต้องผ่านการพิจารณาทั้งจาก สศช. และกระทรวงการคลังจะช่วยให้มีความชัดเจน รอบคอบและเป็นมาตรฐานเดียวกัน และป้องกันการมีส่วนได้ส่วนเสียของโครงการ
3) ปรับเปลี่ยนแนวทางการกำกับติดตามการดำเนินโครงการให้มีความครอบคลุมและชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้การร่วมงานหรือดำเนินการโดยเอกชนในกิจการของรัฐเป็นไปอย่างโปร่งใส ไม่ล่าช้า มีระบบการกลั่นกรองและการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ