ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ม.หอการค้าไทย ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2563 ใหม่ โดยปรับประมาณการเศรษฐกิจเหลือ -6.3% จากเดิมเคยคาดการณ์ไว้ในช่วงเดือน ส.ค.ที่ -9.4% หลังปัจจัยในประเทศ ได้แก่ ภาครัฐออกมาตรการเยียวยา กระตุ้น และฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง, การลงทุนของภาครัฐมีโอกาสเร่งตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน
สำหรับประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจอื่น ๆ ของปี 63 คาดว่า การลงทุนรวมภาคเอกชน -10.7% การลงทุนภาครัฐ โต 12.2% การส่งออก -7.4% การนำเข้า -13.1% จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 6.7 ล้านคน อัตราเงินเฟ้อทั่วไป -0.9% หนี้ภาคครัวเรือน 87.8% ต่อจีดีพี ค่าเงินบาทเฉลี่ย 31.70 บาท/ดอลลาร์ และราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยที่ระดับ 41.70 ดอลลาร์/บาร์เรล ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจในปี 2564 คาดว่า การลงทุนรวมภาคเอกชน 2.8% การลงทุนภาครัฐ 12.6% การส่งออก 3.5% การนำเข้า 12.6% จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 4.0 ล้านคน อัตราเงินเฟ้อทั่วไป 1.0% หนี้ภาคครัวเรือน 84.5% ต่อจีดีพี ค่าเงินบาทเฉลี่ย 30.40 บาท/ดอลลาร์ และราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยที่ระดับ 44.20 ดอลลาร์/บาร์เรล
ส่วนปัจจัยในต่างประเทศเรื่องวัคซีนป้องกันโควิด-19 มีความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก, ภาคการผลิตและภาคบริการทั่วโลกเริ่มฟื้นตัวภายหลังจาการคลายล็อกดาวน์, เศรษฐกิจจีนฟื้นตัวเร็วกว่าที่นักวิเคราะห์เคยคาดการณ์ไว้ และธนาคารกลางทั่วโลกต่างปรับนโยบายการเงินเป็นแบบผ่อนคลาย
ขณะที่ปัจจัยลบต่อเศรษฐกิจไทยในปี 63-64 ที่ยังต้องจับตา ได้แก่ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยืดเยื้อทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจบางส่วนชะลอตัว, ความเปราะบางทางการเมืองทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุนลดลง, เงินบาทที่แข็งค่าเร็วกว่าปกติและมีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่อง, ความเสี่ยงจากสถานการณ์ภัยแล้ง/ฝนทิ้งช่วงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก, ตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลนทำให้ผู้ส่งออกมอบสินค้าไม่ทันตามกำหนด และ ความไม่แน่อนของสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่าสหรัฐฯกับจีน
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในฐานะประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยได้ผ่านพ้นจุดต่ำสุดไปแล้วในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้ จุดที่เป็นตัวสนับสนุนมุมมองเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น มาจากการบริโภคของประชาชนที่เริ่มฟื้นตัว ซึ่งดูได้จากยอดขายรถยนต์และรถจักรยานยนต์ในไตรมาส 3 ปีนี้ที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 จากผลของรายได้เกษตรกรที่ดีขึ้น หลังราคาผลผลิตทางการเกษตรปรับตัวดีขึ้นในรอบ 1-5 ปีแล้วแต่ประเภทสินค้า "การที่สินค้าเกษตรมีราคาดีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับเพิ่มขึ้น ทำให้สินค้าเกษตรที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน เช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีราคาดีขึ้นตาม ซึ่งทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น และมีการจับจ่ายใช้สอยและการบริโภคเพิ่มมากขึ้น เป็นฐานสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัว และเป็นผลจากที่มีการคลายล็อกดาวน์ในช่วงไตรมาส 3 ที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับมา" นายธนวรรธน์ระบุ นายธนวรรธน์ กล่าวว่า การส่งออกไทยในปีนี้ส่วนหนึ่งนอกจากได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทแล้ว ยังเป็นผลมาจากปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ที่ไม่เพียงพอ ทำให้ไม่สามารถส่งออกสินค้าได้ทันตามกำหนด ซึ่งในส่วนนี้คาดว่าปัญหาจะกลับมาคลี่คลายได้ราวเดือนเม.ย.64 จึงทำให้ในช่วงไตรมาส 1/64 อาจมีเม็ดเงินจากภาคการส่งออกที่หายไปจากปัญหาดังกล่าว 1-2 แสนล้านบาท "ปัญหานี้ อาจเป็นตัวที่ชะลอการฟื้นเศรษฐกิจไทยได้ ซึ่งเราเคยประเมินว่าการส่งออกในไทยปีหน้าจะโตได้ถึง 3-3.5% แต่ล่าสุดคาดว่าจะโตได้เพียง 2.8% ดังนั้น รัฐบาลควรต้องอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจเพิ่มเติมในช่วงไตรมาส 1 ปีหน้า อย่างน้อย 1 แสนล้านบาท เพื่อช่วยประคองการส่งออกที่หายไป" นายธนวรรธน์ระบุ อย่างไรก็ดี ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้อีกครั้งในไตรมาส 2/64 การฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชนจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป เพราะยังมีปัจจัยกดดันจากความเปราะบางของตลาดแรงงาน และปัญหาภัยแล้งที่คาดว่าจะรุนแรงสุดในรอบ 7 ปี ส่วนการลงทุนของภาครัฐสามารถขยายตัวได้ดีจากวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี และงบในการฟื้นฟูเศรษฐกิจตาม พ.ร.บ.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนยังฟื้นตัวได้ช้าๆ ตามการส่งออกและภาวะเศรษฐกิจในประเทศ สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไป มีแนวโน้มกลับมาเป็นบวกได้จากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่วนสถานการณ์หนี้ครัวเรือนในปีหน้า คาดว่าจะเริ่มลดลงจากปีนี้ แม้จะยังอยู่ในระดับที่สูงกว่า 80% ของจีดีพีก็ตาม แต่ก็ยังไม่เป็นประเด็นที่น่ากังวล เนื่องจากหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นในปีนี้มาจากผลชั่วคราวจากสถานการณ์โควิด ที่ทำให้ประชาชนจำเป็นต้องก่อหนี้เพิ่มเพื่อรักษาสภาพคล่อง และคาดว่าหนี้ครัวเรือนจะสามารถลดลงต่ำกว่าระดับ 80% ได้ในปี 2565 นายธนวรรธน์ ยังกล่าวถึงการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 23 ธ.ค. โดยคาดว่าการประชุม กนง.รอบนี้จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0.50% ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์แล้ว พร้อมมองว่าไม่มีเหตุผลที่ กนง.จะต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเพื่อดูแลสถานการณ์เงินบาทที่แข็งค่า อีกทั้งอัตราดอกเบี้ยในระดับปัจจุบันถือว่าเพียงพอสำหรับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยแล้ว อย่างไรก็ดี หากการเติบโตของเศรษฐกิจไทยไม่เป็นไปตามคาด กนง.ก็ยังมีช่องที่จะสามารถปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงได้อีก 0.25% แต่มองว่ามีโอกาสจะเกิดขึ้นได้น้อย ซึ่งหากมีเหตุการณ์พลิกผันขึ้นจริง รัฐบาลยังมีศักยภาพเพียงพอที่จะกู้เงินได้อีก 1-1.5 ล้านล้านบาทเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันรัฐบาลยังมีงบประมาณในส่วนของงบ 4 แสนล้านบาทเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากโควิด ซึ่งยังเหลืออีกกว่า 2 แสนล้านบาทที่จะสามารถนำมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจได้จนถึง ก.ย.64 "อยากให้รัฐบาลใช้เงินกระตุ้นเศรษฐกิจไตรมาสละ 1 แสนล้าน ในช่วงไตรมาส 1 และ 2 ของปีหน้า เพื่อสร้างโมเมนตัม...โครงการคนละครึ่ง เราสนับสนุนที่จะต้องมีเฟส 3 เพราะประสบความสำเร็จสูงมาก เป็นนโยบายที่เข้าถึงทุกคน ทำให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนทุกวัน และทั่วประเทศ เม็ดเงินที่ลงไปในเฟสแรกนั้น ทำให้ระบบเศรษฐกิจมีความคึกคัก" นายธนวรรธน์กล่าว สำหรับสถานการณ์เงินบาทที่แข็งค่านั้น นายธนวรรธน์ ระบุว่า ส่วนหนึ่งเป็นผลจากเงินทุนที่ไหลเข้ามาในไทย แต่เมื่อเงินบาทแข็งค่ามากจะไม่ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้กระทบต่อการส่งออก แต่เชื่อว่าทางธนาคารแห่งประเทศไทย คงจะเข้ามาดูแล และมองว่าไม่ใช่เป็นการเข้าไปแทรกแซงที่เกินความจำเป็น "พอบาทแข็งค่ามาก ก็จะไม่ดีต่อเศรษฐกิจ เพราะเมื่อส่งออกไม่ได้ บาทจะกลับมาอ่อนโดยอัตโนมัติ เพราะไม่มีคนเอาบาทมาแลกดอลลาร์ จากสถิติหลังๆ เมื่อบาทลงมาแตะ 29 กว่าๆ จะเด้งกลับไปเอง แต่รอบนี้ยังไม่แน่ใจว่าเงินบาทที่แข็งค่าลงไปแตะ 29.80 บาท/ดอลลาร์ จะลากลงไปสู่ 29.50 บาท/ดอลลาร์นานไหม และจะมีสัญญาณการเก็งกำไรไหม เชื่อว่า ธปท.คงจะเข้ามาสกัดกั้นการเก็งกำไร และไม่น่าจะถูกข้อกล่าวหาว่าเข้าไปแทรกแซงเกินความจำเป็น...เราไม่ได้บิดเบือนค่าเงิน เราแค่สกัดกั้นการเก็งกำไรค่าเงิน" นายธนวรรธน์ระบุ