น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยถึงสถานการณ์ Brexit ว่าเหลือเวลาอีก 2 สัปดาห์ก่อนที่สหราชอาณาจักร (UK) จะออกจากสหภาพยุโรป (EU) แต่กระบวนการลงคะแนนให้สัตยาบันเกี่ยวกับข้อตกลงทางการค้าได้ถูกเลื่อนจากเดิมในช่วง พ.ย.63 เป็นวันที่ 18 ธ.ค.63 โดยสมาชิกรัฐสภา EU จะประเมินสถานะการเจรจาความสัมพันธ์ในอนาคตกับ UK และจะลงคะแนนเสียงภายหลังการอภิปรายเสร็จสิ้น หากไม่มีร่างข้อตกลงให้รัฐสภา EU พิจารณาได้ทัน อาจต้องหาทางออก โดยจัดประชุมลงคะแนนเสียงรอบพิเศษช่วงปลายปีอีกครั้งในวันที่ 29 หรือ 30 ธ.ค.63
ทั้งนี้ ความเป็นไปได้ของผลลัพธ์ของการเจรจากำหนดรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่าง EU และ UK คาดว่าจะเป็นไปได้ใน 2 สถานการณ์ คือ
กรณี 1 มีข้อตกลงร่วมกันบางส่วน (Thin Deal Brexit) ถ้าทั้งสองฝ่ายประนีประนอมกันได้ และสามารถตกลงการค้าเสรีได้บางสาขา จะทำให้บรรยากาศการค้าและเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศผ่อนคลายมากขึ้น โดย นายมิเชล บาร์นิเยร์ หัวหน้าผู้แทนการเจรจาฝ่าย EU กล่าวว่าการบรรลุข้อตกลงระหว่างสองประเทศยังมีความเป็นไปได้และการเจรจายังดำเนินต่อไป กรณีนี้จะเกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจมากที่สุด โดยจะช่วยบรรเทาปัญหาเศรษฐกิจที่ต่างได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
กรณี 2 ไม่มีข้อตกลงร่วมกันเลย (No Deal Brexit) UK จะไม่อยู่ในระบบตลาดเดี่ยวและสหภาพศุลกากรเดียวกับ EU อีกต่อไป ทั้งสองฝ่ายจะต้องดำเนินการค้าภายใต้กฎเกณฑ์ขององค์การการค้าโลก (WTO) จะมีกำแพงภาษีและกระบวนการเข้มงวดทางศุลกากร ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ทันทีในวันที่ 1 ม.ค. 64 สินค้าที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของทั้งสองประเทศ อาจได้รับผลกระทบจากการเคลื่อนย้ายไม่สะดวก มีอุปสรรคจากมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีจากข้อกำหนดต่างๆ เกิดความไม่สะดวกและล่าช้าในการนำเข้า-ส่งออก อีกทั้งพิธีศุลกากรจะมีความซับซ้อนและมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ ทำให้ความสามารถในการแข่งขันทางการค้าลดลง สินค้าจาก UK ไป EU จะมีราคาสูงขึ้นและอาจจำหน่ายได้ยากขึ้น นอกจากนี้ ภาคบริการของ UK ที่มีสัดส่วนการส่งออกสูง อาจได้รับผลกระทบในการเข้าตลาด EU
ผู้อำนวยการ สนค. กล่าวด้วยว่า ผลกระทบของ Brexit ต่อการค้าระหว่างไทยกับ EU และ UK คาดว่าจะมีดังนี้
1. การส่งออกสินค้าของไทยไป UK จะได้รับผลกระทบค่อนข้างจำกัด โดยผลกระทบทางตรง จะเกิดจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของ UK แต่เนื่องจากสัดส่วนการส่งออกของไทยไป UK ค่อนข้างน้อย 1.1% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของไทย แต่จะมีผลกระทบทางอ้อมด้วย จากรายได้ที่ลดลงของประเทศที่มีการเชื่อมโยงทางการค้ากับ UK สูง อาทิ สหรัฐอเมริกา และเอเชีย (จีน ฮ่องกง ญี่ปุ่น สิงคโปร์) เป็นต้น
2. การส่งออกภาคบริการของไทย อาจได้รับผลกระทบในภาคการท่องเที่ยว เนื่องจากนักท่องเที่ยวจาก UK และ EU อาจเดินทางมาไทยน้อยลงตามการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ และส่งผลให้รายได้ลดลงในอนาคต รวมทั้งต้นทุนการเดินทางที่เพิ่มขึ้นจากค่าเงินปอนด์และยูโรที่อ่อนค่า
3. เกิดการเคลื่อนย้ายเงินทุนเข้ามาประเทศตลาดเกิดใหม่มากขึ้น โดยเฉพาะการไหลเข้า-ออกของเงินลงทุนในหลักทรัพย์ในประเทศตลาดเกิดใหม่ รวมถึงไทย โดยไทยได้รับเงินทุนไหลเข้ามาในตลาดตราสารหนี้และตราสารทุนมากกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต จากมาตรการผ่อนคลายทางการเงินของประเทศอุตสาหกรรม
4. ไทยจะได้ประโยชน์จากกฎระเบียบด้านการค้าและการลงทุนของ UK ที่จะมีความยืดหยุ่นและผ่อนคลายมากกว่า EU ได้แก่ นโยบายภาษี UKGT จะส่งผลให้ผู้ประกอบการไทยจะมีโอกาสส่งออกสินค้าไป UK มากขึ้น เนื่องจาก (1) UK จะยกเลิกภาษีให้กับสินค้าไทยทั้งหมด 1,524 รายการ จากตารางภาษีเดิมของ EU ที่ยกเลิกภาษีทั้งหมด 792 รายการ ดังนั้น UK จะยกเลิกภาษีเพิ่มขึ้นอีก 732 รายการ (2) หาก UK บังคับใช้ตารางภาษี UKGT ผู้นำเข้าสินค้าจากไทยจะเสียภาษีนำเข้ามูลค่าเฉลี่ยประมาณ 120 ล้านยูโรต่อปี จากเดิมที่ต้องเสียภาษีนำเข้ามูลค่าเฉลี่ยประมาณ 140 ล้านยูโรต่อปี
สินค้าศักยภาพของไทยสามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งได้มากขึ้น เนื่องจากสินค้าของไทยส่วนใหญ่มีศักยภาพที่สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ เช่น สินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป อัญมณี เครื่องนุ่งห่ม เครื่องสำอาง จากเดิมที่ไทยอาจเคยเสียเปรียบประเทศอื่นๆ เพราะไม่ได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีใดๆ นอกจากนี้ ยังมีสินค้าหลายรายการที่ไทยสามารถประสานประโยชน์ (Synergy) ให้กับ UK เช่น สินค้าเกษตรและอาหาร เนื่องจาก UK ให้ความสำคัญกับความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) เป็นอย่างมากหลังจากออกจาก EU นักธุรกิจ UK อาจมองหาแหล่งลงทุนใหม่ๆ ซึ่งไทยควรจะใช้โอกาสนี้ ปรับกฎระเบียบการลงทุนให้ยืดหยุ่นและเพิ่มแรงจูงใจในการลงทุน เช่น สิทธิพิเศษลดหย่อนภาษีนิติบุคคล เป็นต้น เพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติมากขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ UK มีศักยภาพ อาทิ อุตสาหกรรมยา เครื่องบิน ยานยนต์
นอกจากนี้ ไทยอาจได้ประโยชน์ทางอ้อมในอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง อาทิ ยางรถยนต์ ยางล้อเครื่องบิน วัตถุดิบสำหรับผลิตยา นโยบาย Global Britain UK ให้ความสำคัญในการดำเนินความสัมพันธ์กับพันธมิตรทางการค้าใหม่ และมีมุมมองบวกต่อเอเชีย เนื่องจากเล็งเห็นความสำคัญของอินโด-แปซิฟิก ในการเป็นโอกาสในการสร้างความเติบโตให้แก่หลายภาคส่วนของประเทศ ซึ่งไทยและอินโดนีเซียเป็นที่เป้าหมายสำคัญที่ UK ต้องการทำ FTA ด้วย และนโยบาย UK Global Champion on Free Trade มุ่งที่จะจัดทำ FTA กับประเทศคู่ค้าให้ครอบคลุมสัดส่วนการค้าของสหราชอาณาจักรให้ได้ถึง 80% ภายในระยะเวลา 3 ปี อย่างไรก็ตาม การส่งออกไทยไปยังประเทศในกลุ่ม EU ที่พึ่งพาตลาด UK สูง อาจได้รับผลกระทบ เช่น เยอรมนี (สัดส่วนการค้ากับ UK 11.0%) เนเธอร์แลนด์ (7.0%) เบลเยียม (3.9%) ฝรั่งเศส (5.1%) และอิตาลี (3.2%) (ข้อมูล 8 เดือน ปี 63)
น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวว่า ผู้ผลิตและผู้ส่งออกของไทยที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของการส่งออกสินค้าไปยัง UK และ EU ควรติดตามสถานการณ์ Brexit และกฎเกณฑ์การค้าระหว่างประเทศใหม่อย่างใกล้ชิด เนื่องจากอาจได้รับผลกระทบจากการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุน กฎ ระเบียบ หรือมาตรฐานสินค้าที่แตกต่างกันระหว่าง UK กับ EU
ทั้งนี้ ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่อาจส่งผลต่อการส่งออกของไทยไป UK เช่น ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน กำลังซื้อของผู้บริโภคใน UK ที่มีแนวโน้มลดลง ตลอดจนการชะลอตัวของเศรษฐกิจในยุโรปและเศรษฐกิจโลก เป็นต้น
ล่าสุด ช่วง 10 เดือนแรกของปี 63 การค้าไทยกับ UK มีมูลค่า 4,104 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (คิดเป็น 1.1% ของการค้าทั้งหมดของไทย) โดยไทยส่งออกมูลค่า 2,578 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (1.3% ของการส่งออกทั้งหมดของไทย) และไทยนำเข้า 1,529 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (0.9% ของการนำเข้าทั้งหมดของไทย) โดยไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้า 1,052 ล้านดอลลาร์สหรัฐ