นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า หลังจากที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในจังหวัดสมุทรสาครส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจ ประชาชน และอุตสาหกรรมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ส.อ.ท.จึงเตรียมความพร้อมรับมือสำหรับภาคอุตสาหกรรม
ส.อ.ท.จึงจัดทำคู่มือป้องกันการระบาดโควิด-19 สำหรับภาคอุตสาหกรรม แบ่งตามลักษณะของอุตสาหกรรม ดังนี้ 1) อุตสาหกรรม อาหาร วัตถุดิบเกษตร จักรกล และ อุตสาหกรรมทั่วไป 2) อุตสาหกรรมยา สมุนไพร เครื่องมือแพทย์ เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เทคโนโลยีชีวภาพ ผลิตภัณฑ์ยาง 3) อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม สิ่งทอ เส้นใยประดิษฐ์ 4) อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ พลาสติก แก้วและกระจก เยื่อและกระดาษ อลูมิเนียม การพิมพ์ 5) อุตสาหกรรมผู้ผลิตไฟฟ้า โรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม ก๊าซ พลังงานหมุนเวียน 6) อุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ 7) อุตสาหกรรมขนส่งและโลจิสติกส์ และ 8) อุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างและผู้รับเหมา เพื่อให้นายจ้างและผู้ประกอบการวางแผนเตรียมการป้องกัน และส่งเสริมการปฏิบัติที่ดีในการลดการติดต่อของโรค ป้องกันไม่ให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มและสามารถจัดการผู้ติดเชื้อโควิด-19 ได้อย่างถูกต้อง
นางพิมพ์ใจ ลี้อิสสระนุกูล รองประธาน ส.อ.ท.กล่าวว่า คณะอนุกรรมการป้องกันการระบาดโควิด-19 ภายใต้ ส.อ.ท.ร่วมกับกรมควบคุมโรค จัดทำแนวปฏิบัติในการป้องกันโควิด-19 ในการทำงานสำหรับภาคอุตสาหกรรม โดยอิงหลักการของ The Occupational Safety and Health Administration (OSHA) และ International Labour Organization (ILO) ซึ่งมีมาตรการขั้นพื้นฐานในการป้องกันการติดเชื้อแบบดั้งเดิม และสุขศาสตร์อุตสาหกรรม
รวมทั้งมุ่งเน้นมาตรการป้องกันการระบาดของเชื้อโรค ได้แก่ มาตรการสาธารณสุข การส่งเสริมอนามัยส่วนบุคคล การประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ การเว้นระยะห่างทางสังคม อาทิ การจัดการเชิงพื้นที่ การเหลื่อมเวลาทำงาน และการจัดระบบ Work From Home เป็นต้น ทั้งนี้ สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ สามารถนำแนวทางปฏิบัติพื้นฐานไปปรับใช้ได้ทันที
นายอภิสิทธิ์ เตชะนิธิสวัสดิ์ ประธาน ส.อ.ท.จังหวัดสมุทรสาคร กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันจังหวัดสมุทรสาครมีโรงงานจำนวนทั้งสิ้น 6,082 โรงงาน มีจำนวนสมาชิกในสมุทรสาคร 148 ราย เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ไม่สังกัดจังหวัด 50 ราย และมีจำนวนแรงงานต่างด้าว (ปี 63) ประมาณ 233,071 คน
ทั้งนี้ นายสุพันธุ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ขอความร่วมมือทุกภาคส่วนในการใช้แพลทฟอร์ม "ไทยชนะ" ซึ่งเป็นแพลตฟอร์ม สำหรับ Digital Tracking ภาคบังคับในการเข้าสู่สถานที่ต่างๆ และใช้แอปพลิเคชัน "หมอชนะ" ที่เป็น Digital Tracking Application ภาคสมัครใจในการติดตามตัวบุคคลและผู้ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ