(เพิ่มเติม) ครม.ผ่านแผนคลังระยะปานกลางฟื้นศก.ดัน GDP ปี 68 โต 3.2-4.2% จาก 3-4% ปี 65

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 22, 2020 15:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)เห็นชอบแผนการคลังระยะปานกลาง เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและรองรับสถานการณ์และความเสี่ยง พร้อมลดการขาดดุล และยังคงเป้าหมายระยะยาวที่จะจัดทำงบประมาณให้สมดุล

สำหรับแผนคลังระยะปานกลาง ปี 65-68 ได้ประมาณการเศรษฐกิจ ดังนี้

ปี 65 ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) จะขยายตัว 3-4% ประมาณการรายจ่าย อยู่ที่ 3,100,000 ล้านบาท รายได้รัฐบาล 2.4 ล้านล้านบาท หนี้สาธารณะคงค้าง 57.6% ต่อจีดีพี

ปี 66 คาดว่า GDP จะขยายตัวในช่วง 2.7-3.7% ประมาณการรายจ่ายรัฐบาล 3,200,000 ล้านบาท รายได้ 2.49 ล้านล้านบาท หนี้สาธารณะคงค้าง 58.6% ต่อจีดีพี

ปี 67 คาดว่า GDP ขยายตัว 2.9-3.9% ประมาณการรายจ่ายรัฐบาล 3,310,00 ล้านบาท รายได้ 2.619 ล้านล้านบาท หนี้สาธารณะคงค้าง 59.0% ต่อจีดีพี

ปี 68 คาดว่า GDP ขยายตัว 3.2-4.2% ประมาณการรายจ่ายรัฐบาล 3,420,000 ล้านบาท รายได้ 2.75 ล้านล้านบาท หนี้สาธารณะคงค้าง 58.7% ต่อจีดีพี

ทั้งนี้ ยอดหนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นปีงบประมาณ 63 อยู่ที่ 7,848,156 ล้านบาท หรือคิดเป็น 49.3% ต่อ GDP

โดยมีสมมติฐานรายได้รัฐบาลที่สำคัญในเรื่องนโยบายภาษีที่เกี่ยวข้อง คือ การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ (e-service) รายได้จากค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ประกอบกิจการโทรคมนาคม รวมทั้งผลจาการปรับเปลี่ยนระบบสัญญาสัมปทานปิโตรเลียมจากระบบสัญญาเป็นแบบแบ่งปันผลผลิต

ส่วนรายจ่ายอยู่ภายใต้สมมติฐานที่สำคัญ เช่น สัดส่วนงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นร้อยละ 2.0-3.5 ของวงเงินงบประมาณ รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้มีสัดส่วน 2.5-4% ของวงเงินงบประมาณ ค่าใช้จ่ายบุคลากรมีอัตราเพิ่มโดยเฉลี่ยไม่เกิน 3.5% เป็นต้น

ดังนั้น รัฐบาลจะขาดดุลงบประมาณในปีงบประมาณ 65 จำนวน 700,000 ล้านบาท, ปี 66 จำนวน 710,000 ล้านบาท, ปี 67 จำนวน 690,500 ล้านบาท และ ปี 68 จำนวน 669,500 ล้านบาท

ขณะที่เป้าหมายและนโยบายการคลังในระยะสั้นถึงระยะปานกลาง เพื่อเพิ่มศักยภาพทางการคลังทั้งด้านรายได้ รายจ่าย และหนี้สาธารณะ ให้ภาคการคลังสามารถรองรับสถานการณ์และพร้อมรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้ ขณะที่เป้าหมายระยะยาว ยังกำหนดให้มีการปรับลดขนาดการขาดดุลและมุ่งสู่การจัดทำงบประมาณสมดุลในที่สุด

นอกจากนั้น ครม.ยังเห็นชอบแนวทาง 3Rs เพื่อเพิ่มศักยภาพทางการคลัง ประกอบด้วย (1) Reform หรือการปฏิรูปการจัดเก็บรายได้ เพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีอากร ทบทวนโครงสร้างภาษีในปัจจุบันเพื่อสร้างความมั่นคงด้านรายได้

(2) Reshape คือ การปรับเพื่อควบคุมการจัดสรรงบประมาณ ให้สอดคล้องเชื่อมโยงกับแผนสำคัญ เช่น ยุทธศาสตร์ชาติแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นโยบายสำคัญของรัฐบาล เป็นต้น รวมทั้งให้ความสำคัญกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และชะลอปรับลดยกเลิกโครงการที่ไม่มีความจำเป็น

และ (3) Resilience การบริหารหนี้สาธารณะอย่างมีภูมิคุ้มกันและสามารถรองรับต่อเหตุการณ์ไม่คาดคิดต่าง ๆ ได้ โดยยึดหลักความระมัดระวังสูงสุด (Conservative) การกู้เงินที่เน้นความเสี่ยงต่ำภายใต้ต้นทุนที่เหมาะสม รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ในประเทศ เพื่อให้เป็นแหล่งระดมทุนสำคัญให้กับทั้งภาครัฐบาลและภาคเอกชนด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ