น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม พ.ศ.... ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ ซึ่งเป็นการปรับลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคมเป็นเวลา 3 เดือน ระหว่างวันที่ 1 ม.ค.-31 มี.ค.64 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกันตนและนายจ้างที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ โดยมีสาระสำคัญดังนี้
1.ลดอัตราเงินสมทบฝ่ายนายจ้าง และฝ่ายผู้ประกันตน ตามมาตรา 33 จากเดิม 5% ลดเหลือ 3% สำหรับฝ่ายรัฐบาลส่งเงินสมทบอัตราเดิม คือ 2.75% ส่วนผู้ประกันตนมาตรา 39 ให้ปรับลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม จากเดิมเดือนละ 432 บาท เหลือเดือนละ 278 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.64 ถึงวันที่ 31 มี.ค.64
2.ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.64 ถึงวันที่ 31 มี.ค.64 ให้รัฐบาล นายจ้าง และผู้ประกันตน ตามมาตรา 33 ออกเงินสมทบเข้ากองทุนเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ กรณีตาย และกรณีคลอดบุตร ฝ่ายละ 1.05%
- การจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีสงเคราะห์บุตร และกรณีชราภาพ ในส่วนของนายจ้างและผู้ประกันตน ฝ่ายละ 1.85% และรัฐบาลปรับเป็น 1.45%
- การจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน ในส่วนของนายจ้างและผู้ประกันตน ฝ่ายละ 0.1% และรัฐบาลปรับเป็น 0.25%
3. ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.60 เป็นต้นไป ให้รัฐบาล นายจ้าง และผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ออกเงินสมทบเข้ากองทุนเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ กรณีตาย และกรณีคลอดบุตร ฝ่ายละ 1.5%
- การจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีสงเคราะห์บุตร และกรณีชราภาพ ในส่วนของนายจ้างและผู้ประกันตนฝ่ายละ 3% และรัฐบาล 1%
- การจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน ในส่วนของนายจ้างและผู้ประกันตน ฝ่ายละ 0.5% และรัฐบาล 0.25%
น.ส.รัชดา กล่าวเพิ่มเติมว่า การลดอัตราเงินสมทบ จะส่งผลดีต่อผู้ประกันตนและนายจ้าง โดยช่วยให้ผู้ประกันตนสามารถนำเงินไปใช้จ่ายเสริมสถาพคล่อง ประมาณคนละ 460-900 บาท เป็นเวลา 3 เดือน คิดเป็นมูลค่ารวม 8,248 ล้านบาท สำหรับนายจ้าง จะทำให้นายจ้างจ่ายเงินสมทบลดลง รวม 7,412 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายและช่วยรักษาการจ้างงานต่อไปได้
นอกจากนั้น ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีสงเคราะห์บุตร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตร พ.ศ. 2561
สืบเนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อสภาวะเศรษฐกิจ โดยเฉพาะครอบครัวที่มีเด็กเล็ก ทำให้รายได้ลดลงหรือไม่มีรายได้ เนื่องจากต้องหยุดงานหรือต้องออกจากงาน ในขณะที่รายจ่ายเกี่ยวกับเด็กแรกเกิดเป็นรายจ่ายที่จำเป็น ดังนั้น เพื่อเป็นการบรรเทาภาระของผู้ประกันตนให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน ครม.เห็นชอบร่างกฎกระทรวงดังกล่าว โดยมีสาระสำคัญดังนี้
1. เพิ่มอัตราการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตรเหมาจ่าย จากเดิม 600 บาทต่อเดือนต่อบุตร 1 คน เพิ่มเป็น 800 บาทต่อเดือนต่อบุตร 1 คน มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.64 เป็นต้นไป
2. ผู้ที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตร ตามกฎกระทรวงฯ ฉบับเดิม (พ.ศ. 2561) จะยังคงได้รับสิทธิตามอัตราที่กำหนดใหม่ในกฎกระทรวงฉบับนี้ นับตั้งแต่วันที่กฎกระทรวงมีผลใช้บังคับ
ทั้งนี้ ผู้ประกันตนได้รับประโยชน์จำนวน 1.362 ล้านคน เป็นเงิน 13,739 ล้านบาท/ปี
- การเพิ่มสิทธิกรณีคลอดบุตรและฝากครรภ์ โดยปรับเพิ่มค่าคลอดบุตรเหมาจ่ายจากเดิมอัตรา 13,000 บาทต่อครั้ง เป็นเหมาจ่ายในอัตรา 15,000 บาทต่อครั้ง และค่าฝากครรภ์จากเดิม 3 ครั้งในอัตรา 1,000 บาท เป็น จำนวน 5 ครั้ง ในอัตรา 1,500 บาท โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564
โดยผู้ประกันตนได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีคลอดบุตร 293,073 คน/ปี เป็นเงิน 4,396 ล้านบาท กรณีฝากครรภ์ ผู้ประกันตนได้รับสิทธิประโยชน์ 122,114 ครั้ง/ปี เป็นเงิน 36.6 ล้านบาท