นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า กนง. ได้ปรับคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปี 63 ดีขึ้นเป็นหดตัว -6.6% จากก่อนหน้าที่เคยประเมินไว้ว่าจะหดตัว -7.8%
แต่ปรับประมาณการของปี 64 ลดลงมาอยู่ที่ 3.2% จากเดิม 3.6% เนื่องจากการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติล่าช้าออกไปเป็นราวกลางปีหน้าเมื่อมีการกระจายวัคซีนป้องกันโควิดไปทั่วโลก และคาดว่า GDP ในปี 65 จะขยายตัวได้ถึง 4.8% ตามภาคการท่องเที่ยวไทยฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง
นายทิตนันทิ์ กล่าวว่า ตัวเลข GDP ในปี 64 ถูกปรับลดลงจากประมาณการครั้งก่อนพอสมควร ส่วนหนึ่งมาจากสมมติฐานตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลงเหลือ 5.5 ล้านคน จากเดิมคาดไว้ที่ 9 ล้านคน หลังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดยังมีความรุนแรงในหลายประเทศ ซึ่งประเด็นดังกล่าวมีความสำคัญกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
รวมถึงประสิทธิผลและการกระจายวัคซีนป้องกันโควิด-19 โดยประเมินว่าในช่วงไตรมาส 2/64 ประชากรของหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่สำคัญมากกว่า 30% จะเข้าถึงวัคซีน และในไตรมาส 3/64 ประเทศที่เป็นนักท่องเที่ยวหลักของไทยจะเข้าถึงวัคซีนได้เกินกว่า 30% ขณะที่ประเทศไทยเองน่าจะเข้าถึงวัคซีนได้ประมาณ 20% ในช่วงสิ้นปี 64
ส่วนปี 65 คาดว่าภาพรวมการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้ดีขึ้น ตามการฟื้นตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ จากผลการได้รับวัคซีนที่แพร่หลายมากขึ้นเป็นสำคัญ
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มของเศรษฐกิจในระยะถัดไปยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยมีปัจจัยที่สำคัญ ได้แก่ สถานการณ์โรคโควิด-19 ในไทยที่อาจรุนแรงขึ้นและลุกลามกว่าคาด รวมถึงความไม่แน่นอนของประสิทธิภาพและการกระจายวัคซีนป้องกันโควิด-19 ดังนั้นมาตรการภาครัฐจำเป็นต้องมีความต่อเนื่อง และต้องมีการประสานนโยบายระหว่างหน่วยงาน เพื่อประคับประคองให้เศรษฐกิจสามารถฟื้นตัวได้อย่างยั่งยืน
ส่วนการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในขณะนี้ มองว่าจะมีผลกระทบกับภาพรวมเศรษฐกิจไทยบ้าง แต่ไม่มากนัก เพราะการระบาดอยู่ในวงจำกัด และน่าจะกินระยะเวลาเพียง 1-2 เดือนเท่านั้น รวมทั้งเชื่อว่าภาครัฐจะสามารถบริหารจัดการได้
"ในไตรมาส 3/63 เห็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ต่อเนื่องมาถึงไตรมาส 4/63 โดยเป็นการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง และดีกว่าที่คาด มาจากการบริโภคและการส่งออกเป็นสำคัญ ส่วนการระบาดของโควิด-19 นั้น เชื่อว่าจะเป็นเพียงระยะสั้นเท่านั้น รัฐบาลคงจะมีมาตรการควบคุมออกมา เป็นมาตรการในลักษณะที่ตรงจุด...สมมติฐานของเรา ควบคุมได้ในเวลา 1-2 เดือน และผลกระทบอยู่ในวงจำกัด คงไม่ใช่ลักษณะที่เราเห็นในเดือนเม.ย." นายทิตนันทิ์กล่าว
พร้อมระบุว่าเศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มการฟื้นตัว แต่ยังมีความเสี่ยงด้านต่ำสูงมากในระยะสั้น ดังนั้นหลังจากนี้จึงต้องจับตาสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และมาตรการจากภาครัฐที่ออกมาว่าจะมีความเข้มข้นแค่ไหน และอย่างไร