กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) มีความเห็นต่อผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 0.50% ตามที่ตลาดคาดไว้ นับเป็นการคงดอกเบี้ยนโยบายครั้งที่ 5 ติดต่อกัน หลังจากที่ได้มีการลดอกเบี้ยนโยบายไปแล้วรวม 0.75% ในช่วงก่อนหน้านี้ในปีนี้ ขณะที่เงินบาทแข็งค่าเล็กน้อยมาที่ระดับ 30.20 ต่อดอลลาร์ ภายหลังการประชุม
นับตั้งแต่ต้นปี เงินบาทอ่อนค่าลงราว 0.6% ขณะที่คณะกรรมการผู้กำหนดนโยบายยังคงแสดงความกังวลในเรื่องเงินบาทแข็งค่าอย่างรวดเร็ว โดยระบุว่าจะพิจารณามาตรการที่เหมาะสมเพิ่มเติม ทั้งนี้ กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี คาดว่าเงินบาทน่าจะแตะระดับ 29.50 ในช่วงกลางปี 2564 จากสมมุติฐานว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะยังคงใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายอย่างมากต่อไปและยอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยยังอยู่ระดับสูง
ทั้งนี้ คณะกรรมการ กนง. ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยยังคงฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่ความเสี่ยงด้านต่ำยังมีสูง โดยมีการปรับเพิ่มคาดการณ์ GDP ปีนี้ เป็นหดตัว -6.6% จากเดิมคาด -7.8% เนื่องจากการติดลบน้อยลงของส่งออกเป็น -7.4% จากเดิมคาด -8.2% ขณะที่คาดการณ์การเติบโตของ GDP ปี 2564 ปรับลดลงเป็น 3.2% จากเดิมคาดไว้ที่ 3.6% เพื่อสะท้อนการปรับประมาณการใหม่ของจำนวนนักท่องเที่ยวที่ 5.5 ล้านคน จากเดิมคาดไว้ที่ 9 ล้านคน สำหรับแนวโน้มปี 2565 กนง.คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตที่ 4.8% ในด้านแรงกดดันด้านราคา กนง. คาดอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะกลับมาอยู่ในกรอบเป้าหมายที่ 1-3% ในกลางปีหน้า และจะยังคงอยู่ใกล้กับขอบล่างของกรอบเป้าหมายดังกล่าว
โดยคณะกรรมการกนง. มีกำหนดการประชุมรอบถัดไปในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 ความเห็นของ กนง. ในวันนี้ยังสะท้อนถึงความไม่แน่นอนที่อยู่ในระดับสูง โดยสถานการณ์อันใกล้ขึ้นอยู่กับการแพร่ระบาดรอบใหม่ของโควิด-19 และมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด ขณะที่ภาคการท่องเที่ยว ประสิทธิผลของวัคซีนและการแพร่กระจายของการใช้วัคซีน ตลาดแรงงาน รวมทั้งการประสานงานของการดำเนินนโยบายของรัฐบาลจะเป็นปัจจัยสำคัญส่งผลต่อแรงส่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะถัดไป
กนง.กล่าวย้ำถึงความจำเป็นที่จะต้องการกระจายสภาพคล่องที่มีประสิทธิภาพ ตอกย้ำมุมมองของเราที่ว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะยังคงไม่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดปี 2564 พร้อมทั้งจำเป็นที่จะใช้มาตรการเฉพาะเจาะจงมากขึ้นและเครื่องมือด้านนโยบายที่เหมาะสมเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ