CIMBT คาดกนง.อาจออกมาตรการเชิงรุกเพิ่มหากโควิดรอบใหม่ฉุดศก.ถดถอยรุนแรง

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 23, 2020 18:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี พร้อมปรับเพิ่มการประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้เป็น -6.6% จากเดิมคาด -7.8% จากการบริโภคภายในประเทศและการส่งออกที่ดีขึ้นกว่าคาด

แต่ที่น่ากังวลคือการส่งสัญญาณของ กนง.ว่าเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวช้ากว่าคาดในปีหน้า โดยกนง.ได้ปรับลดการคาดการณ์จาก 3.6% เป็น 3.2% โดยให้น้ำหนักการล่าช้าในการกลับมาของนักท่องเที่ยว และมองว่าปลายปีหน้าคนไทยราว 20% จะได้รับวัคซีน ซึ่งอาจทำให้เรายังไม่พร้อมเปิดรับนักท่องเที่ยวมากนัก

ทั้งนี้ หากการระบาดโควิด-19 รอบนี้ของไทยนำไปสู่การหดตัวทางเศรษฐกิจในไตรมาส 1/64 เทียบไตรมาส 4/63 หรือ double-dip recession อาจเห็นกนง.ออกมาตรการทางการเงินเพิ่มเติม โดยกนง.อาจมีการประชุมฉุกเฉินเพื่อออกมาตรการเหล่านี้ได้ โดยไม่ต้องรอให้ถึงรอบประชุมปกติรอบหน้า เพื่อบรรเทาปัญหาเศรษฐกิจและลดความรุนแรงต่อปัญหาการว่างงานและสภาพคล่องในธุรกิจขนาดเล็กและครัวเรือนที่มีรายได้น้อย

1. ลดดอกเบี้ยที่จัดเก็บเข้ากองทุนฟื้นฟูลง 0.23% เหลือ 0% เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์ลดภาระหนี้ให้ลูกค้า

2. ผ่อนคลายเกณฑ์อัดฉีดสภาพคล่อง หรือ soft loan ช่วย SME

3. ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เหลือ 0.25% เพื่อลดผลกระทบการล็อกดาวน์ ลดภาระดอกเบี้ย เพิ่มสภาพคล่อง

4. ขยายมาตรการพักชำระหนี้ครัวเรือนและ SME เพื่อให้ลูกค้ามีเวลาในการปรับโครงสร้างหนี้ และช่วยบรรเทาปัญหาทางการเงินในช่วงที่ขาดรายได้

5. ธปท.เตรียมอัดฉีด QE เข้าระบบเพิ่มเติม และทำมากกว่าการซื้อหุ้นกู้เอกชน เพื่อเสริมสภาพคล่องให้ SME และอาจซื้อพันธบัตรรัฐบาลเพื่อให้คลังกู้เงินมากระตุ้นเศรษฐกิจได้ อีกทั้งน่าจะช่วยชะลอการแข็งค่าของเงินบาทในปีหน้าได้ด้วย

แต่ที่ยังไม่ทำอะไรในรอบนี้ เพราะ ธปท.อาจรอมาตรการทางการคลังเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจก่อน ไม่ว่าจะชดเชยรายได้ของผู้ที่ได้รับผลกระทบกรณีมีคำสั่งให้ล็อกดาวน์อย่างไร หรือจะมีมาตรการลดรายจ่ายคนอย่างไร ก่อนผ่อนคลายมาตรการทางการเงินเพิ่มเติม และเชื่อว่าทาง ธปท.ยังทำได้ด้วยขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายในปัจจุบัน อีกทั้งกนง.ดูจะห่วงปัญหาบาทแข็งที่อาจกระทบความสามารถในการแข่งขันผู้ส่งออก และปัญหาสภาพคล่องที่แม้มีมากในระบบการเงิน แต่ยังไม่ช่วยเหลือธุรกิจ SME มากนัก "โดยสรุป นโยบายการเงินยังไม่ถึงทางตัน แต่รอให้คลังเดินหน้าก่อน พร้อมประเมินผลกระทบและความรุนแรงของการระบาดโควิดรอบนี้ แต่ธปท.ยังเหลือเครื่องมือมาพยุงเศรษฐกิจได้อยู่ แต่จะใช้อะไรบ้าง และแค่ไหน มากน้อยเพียงไรก็ขึ้นอยู่กับการควบคุมการระบาดในประเทศ แต่เราน่าจะได้เห็นนโยบายเชิงรุกในเร็วๆ นี้"


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ