นายประวิทย์ หอรุ่งเรือง ผู้แทนสมาคมผู้ผลิตเหล็กทรงยาวด้วยเตาอาร์คไฟฟ้า เปิดเผยถึงโครงการรถเก่าแลกรถใหม่ของรัฐบาลว่า ถือเป็นโครงการที่ดี โดยหากภาครัฐมีนโยบายกำจัดซากรถยนต์ที่ชัดเจน นอกจากจะช่วยลดปริมาณมลพิษทางอากาศ PM2.5 และรักษาสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังช่วยผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กลดการนำเข้าซากรถยนต์จากต่างประเทศ เพื่อนำมาหลอมเป็นเศษเหล็กกลับมาใช้ใหม่ในอุตสาหกรรมเหล็ก ซึ่งปัจจุบันมีการนำเข้าประมาณ 120,000 ตันต่อปี
ทั้งนี้ ข้อมูลจากกรมขนส่งทางบก พบว่าปี 2562 ประเทศไทยมีจำนวนรถยนต์ส่วนบุคคล คือ รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 ที่นั่ง และรถบรรทุกส่วนบุคคล (Pick-up) ที่ใช้งานอยู่บนท้องถนน รวมทั้งสิ้น 16.8 ล้านคัน ซึ่งเป็นรถยนต์เก่าที่มีอายุมากกว่า 15 ปีจำนวนกว่า 4 ล้านคัน หรือคิดเป็นกว่า 24% ซึ่งถือว่าเป็นสัดส่วนที่ไม่น้อย โดยส่วนใหญ่ถูกจำหน่ายเป็นรถยนต์มือ 2ซึ่งปัญหาหลักจากการใช้รถยนต์มือ 2 คือ การเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ของเครื่องยนต์ ทำให้เกิดปัญหามลพิษทางอากาศ
ส่วนการกำจัดซากรถยนต์มือ 2 ที่ไม่สามารถใช้งานได้ ส่วนใหญ่ใช้วิธีการชำแหละเป็นซาก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และไม่สามารถนำเศษเหล็กเก่ากลับมาใช้งานได้อย่างเต็มที่ แต่หากมีกระบวนการบริหารจัดการเศษเหล็กอย่างมีประสิทธิภาพ ก็จะสามารถนำซากรถยนต์กลับมารีไซเคิลใหม่ ซึ่งนอกจากจะช่วยเพิ่มมูลค่าทางด้านเศรษฐกิจแล้ว ยังเป็นการรักษาสิ่งแวดล้อมด้วย
นายประวิทย์ กล่าวต่อว่า ในต่างประเทศก็มีโครงการหรือนโยบายควบคุมปริมาณและแก้ไขปัญหารถเก่าที่แตกต่างกัน แต่ประเด็นสำคัญ ซากรถเก่าจะต้องเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลกำจัดซากอย่างถูกวิธี เช่น เมืองคิตะกีวชู ประเทศญี่ปุ่น ที่เป็นเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ได้มีการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมเพื่อกำจัดขยะและของเสียขึ้น เพื่อรีไซเคิลของเก่ารวมถึงซากรถเก่า ซึ่งซากรถเก่าถือว่ามีศักยภาพสูงในการนำกลับมาใช้ใหม่
ทั้งนี้ การแยกชิ้นส่วนรถยนต์ก่อนรีไซเคิล เป็นวิธีที่ได้รับความนิยมในการจัดการซากรถ โดยซากรถเก่าหนึ่งคัน จะมีโลหะที่เป็นเหล็กประมาณ 69% ซึ่งเหล็กเหล่านั้น จะถูกคัดแยกเพื่อนำมาหลอม และปรุงแต่งให้มีความบริสุทธิ์ก่อนนำกลับมาใช้ใหม่ ส่วนอะไหล่และเครื่องยนต์ ที่มีสภาพสมบูรณ์ จะถูกคัดแยกและนำกลับมาใช้ใหม่และชิ้นส่วนที่ไม่ใช่เหล็ก เช่น พลาสติก วัสดุยาง รวมถึงชิ้นส่วนอื่นๆ จะถูกคัดแยกและนำไปเป็นเชื้อเพลิงผลิตพลังงาน ซึ่งถือเป็นการกำจัดซากรถแบบครบวงจร