นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า ทิศทางการดำเนินงานในปี 64 นั้นยังเหมือนในปีที่ผ่านมา โดยเน้นเรื่องพลังงานเข้มแข็งและเป็นพลังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างแท้จริง ซึ่งคาดว่าจะใช้เม็ดเงินลงทุนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคเอกชนขับเคลื่อนราว 1.3 แสนล้านบาท โดยเตรียมนำแผนงานเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป ประกอบด้วย
1.แผนงานด้านไฟฟ้านั้นขณะนี้ยังมีปริมาณสำรองเหลืออยู่ 40% ซึ่งจะมีการบริหารจัดการถึงปริมาณสำรองที่เหมาะสม, ส่งเสริมการค้าเสรีกิจการก๊าซและไฟฟ้า, กำหนดเป้าหมายการขับเคลื่อนการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้า (EV) เพื่อกระตุ้นการใช้ไฟฟ้าและทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ ทั้งการผลิตรถยนต์ และอุตสาหกรรมแบตเตอรี่
2.การเตรียมความพร้อมเปิดประมูลสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบที่ 23, การเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทยกัมพูชา (OCA) ,การส่งเสริมการลงทุนปิโตรเลียมระยะที่ 4 รูปแบบใหม่ในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี), การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานกว่า 5.5 หมื่นล้านบาท, ส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซล B10 และแก๊สโซฮออล์ E20 เป็นเกรดมาตรฐาน, ขับเคลื่อนการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนทั่วประเทศ 2,400 ล้านบาท
3.ส่งเสริมการลงทุนพลังงานสะอาด ได้แก่ โรงไฟฟ้าชุมชนุม 150 เมกะวัตต์ หากประสบความสำเร็จก็จะขายโครงการเพิ่มเติม โดยจะพยายามให้สำเร็จในต้นปี 64, ส่งเสริมการตั้งโรงไฟฟ้าขยะ 400 เมกะวัตต์ จากเดิมที่มีอยู่แล้ว 500 เมกะวัตต์ ทั้งนี้เพื่อลดการสูญเสียและลดก๊าซเรือนกระจก, ส่งเสริมการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงแดด, ส่งเสริมการลดใช้พลังงานในหน่วยงานของรัฐให้ได้ 30% และกระตุ้นการลงทุนในด้านนี้
ส่วนผลการดำเนินงานในปี 63 นั้น ประกอบด้วย 1.การเข้าไปดูแลและช่วยเหลือเพื่อบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ให้กับประชาชนหลังมีการล็อกดาวน์ประเทศ ได้แก่ ค่าไฟฟ้าทั้งครัวเรือนและภาคธุรกิจจำนวน 30 ล้านราย คิดเป็นเงินราว 3.4 หมื่นล้านบาท, การตรึงราคาก๊าซหุงต้มด้วยงบ 3,500 ล้านบาท, ช่วยเหลือรถสาธารณาเป็นค่าส่วนต่างก๊าซเอ็นจีวีด้วยงบ 800 ล้านบาท, การแจกแอลกฮฮอล์จำนวน 2 ล้านลิตรให้กับโรงพยาบาลทั่วประเทศ, ลดการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน 50 สตางค์/ลิตร หรือราวเดือนละ 1,200 ล้านบาท
2.การหารายได้หลักเข้าประเทศจากการประกอบกิจการปิโตรเลียมราว 1.3 แสนล้านบาท และเพิ่มการจ้างงาน 100 คน
3.การส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากด้วยการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนปาล์ม ด้วยการนำผลผลิตที่ได้มาผลิตน้ำมันดีเซล B10 ที่เป็นเกรดมาตรฐาน, การกำหนดโมเดลโรงไฟฟ้าชุมนุม เพื่อเป็นแนวทางสร้างรายได้ให้กับชุมชน โดยผ่านการพิจารณาของ กพช.แล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการออกหนังสือเชิญชวนให้ผู้สนใจยื่นข้อเสนอ, การขับเคลื่อนพลังงานชุมชน นำร่อง 6 พันครัวเรือน สามารถลดการใช้พลังงานปีละ 50 ล้านบาท/ปี, เพิ่มรายได้วิสาหกิจชุมนุมกว่า 140 แห่ง
4.การกำหนดแผนงานในอนาคตได้มีการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและเอกชนในการทบทวนจัดทำแผนพลังงานแห่งชาติให้เกิดความชัดเจน เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์โลกเพราะมีหลายปัจจัยที่มีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะมีความยืดหยุ่นและสอดคล้องกับกติกาสากล เช่น การพัฒนายานยนต์ไฟฟ้า (EV) , โครงการระบบขนส่งสาธารณะ, การลงทุนอุตสาหกรรมใหม่, ความต้องการของประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางการจำหน่ายกระแสไฟฟ้าในภูมิภาค ซึ่งจะเกิดผลกระทบโครงสร้างและค่าไฟฟ้า
สำหรับการเตรียมความพร้อมในการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 รอบใหม่นั้น ส่วนตัวคิดว่าสถานการณ์ไม่น่าจะขยายวงกว้าง แต่ต้องรอดูระยะเวลาในการควบคุมโรคมากน้อยเพียงใด ซึ่งที่ประชุม กพช.ได้อนุมัติให้กระทรวงฯ ในการพิจารณาแนวทางช่วยเหลือในเรื่องดังกล่าวไว้แล้ว แต่หากมีความจำเป็นต้องล็อกดาวน์ประเทศเหมือนช่วงเดือน เม.ย.ที่ผ่านมาก็มีมาตรการเตรียมพร้อมไว้แล้ว
"มีการเตรียมการขออนุมัติไว้เรียบร้อยแล้ว ส่วนจะเป็นการช่วยเหลือในรูปแบบไหน อย่างไรขึ้นอยู่กับสถานการณ์ แต่โดยส่วนตัวเชื่อว่าด้วยความร่วมมือ และการตระหนักรู้ป้องกันตัว เหตุการณ์เหมือนในช่วงเดือนเมษาฯ ไม่น่าจะเกิดขึ้น" นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว