รมว.คมนาคม เร่งเดินหน้าฟื้นขสมก.ชงแผนถึงบอร์ดสภาพัฒน์ ม.ค.64 ก่อนเสนอครม.

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 28, 2020 18:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยถึงแผนฟื้นฟูกิจการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ว่า ตามที่ปลัดกระทรวงคมนาคม ได้หารือกับเลขาธิการคณะรัฐมนตรีแล้ว ได้รับทราบว่าเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ต้องการให้กระทรวงคมนาคมนำแผนการลงทุน ขสมก.เสนอต่อคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ด สศช.) ก่อนจึงจะนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป ซึ่งคาดว่าเสนอได้ภายในเดือนม.ค.64

แผนฟื้นฟู ขสมก.ล่าสุดมีการปรับปรุงจากแผนเดิม ใน 3 ประเด็นคือ 1. เปลี่ยนวิธีการจัดหารถจากจัดซื้อเป็นเช่าจ้างวิ่งตามระยะทาง เพื่อตัดปัญหาเรื่องงบซ่อมบำรุง และการบริหารจัดการ 2. ปรับอัตราค่าโดยสารจาก 15-20-25 บาท ซึ่งพบว่าเป็นภาระของประชาชน โดยจากการศึกษาได้กำหนดอัตรา 30 บาทต่อวัน ซึ่ง สศช.ได้สอบถามประเด็นความคุ้มค่าและแก้ปัญหาขาดทุน ขสมก. ซึ่งมีการศึกษายืนยัน 3. ปรับช่องทางวิ่งรถ ขสมก.เกาะกลางในถนนที่มีความพร้อม ส่วนประเด็นอื่นๆ เป็นไปตามแผนเดิม เช่น เออร์รี่รีไทร์, การบริหารหนี้, การนำ E-Ticket มาใช้ เป็นต้น

ทั้งหมดมีเป้าหมายเพื่อหยุดการขาดทุน ซึ่งเฉลี่ย ขสมก.ขาดทุนประมาณ 300 ล้านบาทต่อเดือน หรือ 4,000 ล้านบาทต่อปี หากยิ่งช้าหนี้สะสม ขสมก.จะเพิ่มจาก 1.2 แสนล้านบาท โดยจะเพิ่มขึ้น 4,000 ล้านบาททุกปี

"วันนี้เรามีวิธีการที่แก้ปัญหาได้ และไม่ได้เป็นการนับหนึ่งใหม่ เนื่องจากไม่ต้องย้อนกลับไปเสนอคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ใหม่ แต่เป็นการเสนอในเรื่องแผนลงทุนไปยังบอร์ด สศช.ก่อน ซึ่งเดิมเข้าใจว่าผ่าน ครม.แล้ว ค่อยเสนอแผนลงทุนไปที่สศช." รมว.คมนาคมกล่าว

สำหรับโครงการร่วมลงทุนการดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) นั้น กรมทางหลวง (ทล.) จะสามารถลงนามสายบางใหญ่-กาญจนบุรี (M 81) กับกลุ่ม BGSR (บมจ. บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS), บมจ. กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) / บมจ. ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC) และ บมจ.ราช กรุ๊ป (RATCH) ได้ก่อนในต้นปี 64 เนื่องจากการก่อสร้างงานโยธา 25 ตอน ไม่มีปัญหาติดขัด

ส่วนสัญญา O&M สายบางปะอิน-นครราชสีมา จะต้องรอการก่อสร้างงานโยธาของ 17 ตอนจากทั้งหมด 40 ตอนให้ชัดเจน กรณีที่มีปัญหาให้การปรับแบบ ซึ่งขณะนี้คณะกรรมการกลางที่มีผู้แทนจากสถาบันที่เป็นกลาง 14 แห่ง ได้ขอเวลาในการลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบเพื่อดูปัญหาและแนวทางการแก้ไขที่เป็นไปตามระเบียบกฎหมาย และ TOR อย่างโปร่งใส เมื่อแก้ปัญหาแล้วจึงจะลงนามสัญญา O&M เพราะไม่อยากให้เป็นปัญหาลงนามแล้วจะส่งมอบพื้นที่ไม่ได้จะเกิดการฟ้องร้องได้

รมว.คมนาคม ยังกล่าวถึงการดำเนินงานปี 63 ที่ผ่านมาว่า จากที่ได้มีนโยบาย 8 ข้อ จำนวน 21 เรื่อง ซึ่งมี 14 เรื่องที่สามารถดำเนินการได้แล้ว ส่วนอีก 7 เรื่องยังอยู่ระหว่างดำเนินการ ได้แก่ ปรับเวลาเดินรถบรรทุก 10 ล้อขึ้นไป เข้าเขตพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ในช่วงเวลาหลัง 24.00 น. ถึง 04.00 น. เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพการจราจรและการใช้รถใช้ถนนของประชาชนในปัจจุบัน ซึ่งได้รับฟังความเห็นผู้ประกอบการหลายเรื่อง แต่ยังไม่ได้ข้อสรุป เช่น ผู้ประกอบการต้องการจุดพักรถ, การศึกษารูปแบบ เงื่อนไขการอนุญาตบริการรถรับจ้างสาธารณะผ่านแอปพลิเคชัน TAXI เพื่อสร้างทางเลือกใหม่ โดยกรมการขนส่งทางบก(ขบ.) อยู่ระหว่างดำเนินการ ภายในต้นปี 64 จะเริ่มทดลองใช้และคาดว่าในเดือน พ.ค.จะเปิดใช้งานได้

การจัดทำแผนการใช้บัตรโดยสารเชื่อมโยงรถไฟฟ้าทุกระบบด้วยตั๋วร่วม ซึ่งยังติดปัญหาเรื่องการทำซอฟต์แวร์หลักที่ยังไม่สามารถสรุปเรื่องค่าลงทุนได้ โดยขณะนี้มีธนาคารแห่งหนึ่งพร้อมจะลงทุน อย่างไรก็ตาม แผนตั๋วร่วมจะขยายจากรถไฟฟ้าไปยังรถขสมก. เรือไฟฟ้า รถบขส. ในอนาคต

การพัฒนารถไฟทางคู่ เพิ่มสัดส่วนการขนส่งด้วยระบบรางเป็น 30% ภายในเวลา 3 ปี ซึ่งได้มอบหมายให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ศึกษา รูปแบบและวิธีการให้เอกชนร่วมลงทุนโดยจะชัดเจนในปี 64

การพัฒนาการขนส่งสินค้าทางน้ำ จากท่าเรือบางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ไปยังท่าเรือแหลมฉบัง และท่าเรือกรุงเทพ เพื่อลดจำนวนรถบรรทุกจากภาคใต้ที่เข้าสู่กรุงเทพฯ ยังไม่คืบหน้าซึ่งส่วนหนึ่งอาจเพราะมีเรื่องโควิด-19 ทำให้ปริมาณการขนส่งลดลง

การส่งเสริมให้สนามบินภูมิภาค เป็นศูนย์กลางรวบรวมผลผลิตและกระจายสินค้าเกษตร หรือสินค้าเน่าเสียง่ายออกสู่ตลาด โดยนำร่องที่ สุราษฎร์ธานี อุดรธานี และอุบลราชธานี ซึ่งจะเห็นผลเป็นรูปธรรมในต้นปี 64

รมว.คมนาคม ยังกล่าวถึงการดำเนินงานในปี 64 ว่า รูปแบบการทำงาน และการบริหารงบประมาณนั้น ได้มีการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน มีกรอบเวลา ในการเบิกจ่ายงบประมาณให้ครบในเดือน ส.ค.64 สำหรับโครงการที่ดำเนินการภายใน 1 ปี จะต้องดำเนินการกำหนดทีโออาร์จัดซื้อจัดจ้างเสร็จในวันที่ 31 ธ.ค.63 ส่วนโครงการที่เป็นงบผูกพันจะต้องดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างให้เสร็จในเดือน มี.ค.64 ซึ่งเชื่อว่าการลงทุนในปี 64 กระทรวงคมนาคมจะดำเนินการได้เร็วกว่าปกติ แม้ว่าสถานการณ์โรคโควิด-19 อาจจะกระทบบ้างเล็กน้อย แต่ยังมั่นใจว่าจะดำเนินการได้ตามเป้าหมาย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ