นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ได้ประชุมหัวหน้าหน่วยงานราชการและหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงคมนาคม โดยได้แจ้งถึงข้อสั่งการต่าง ๆ ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า นายกรัฐมนตรีได้รับทราบ ความคืบหน้าและปัญหาในการดำเนินโครงการก่อสร้าง ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สายบางปะอิน-นครราชสีมา (M 6) และ สายบางใหญ่-กาญจนบุรี (M 81) ซึ่งให้เร่งรัดดำเนินการ เช่น กรณีสายบางใหญ่-กาญจนบุรี หากไม่มีปัญหาแล้วให้พิจารณาการลงนามสัญญาร่วมลงทุนการดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M)
อนึ่ง กลุ่มกิจการร่วมค้าบีจีเอสอาร์ ที่บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) เป็นแกนนำ เป็นผู้ชนะการประมูลงาน O&M มอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-นครราชสีมา และสายบางใหญ่-กาญจนบุรี
พร้อมกันนี้ ให้กำหนดรายละเอียดในเรื่องเทคโนโลยีระบบจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางแบบไม่มีช่องเก็บค่าผ่านทางแบบหลายช่องจราจร (Multi-lane free flow) หรือ M Flow ให้ชัดเจน ด้วย
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังฝากการบ้าน ในการพิจารณาเปิดให้บริการก่อนเป็นบางช่วง ว่าจะสามารถดำเนินการได้หรือไม่ เพื่อระบายการจราจร ซึ่งได้มอบให้กรมทางหลวง (ทล.) เร่งทำการบ้านพิจารณาแนวทาง และนำรายงานในเดือนม.ค. 64 ต่อไป
และจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในขณะนี้ นายกรัฐมนตรี ขอให้กรมการขนส่งทางบก(ขบ.) ประชุมชี้แจงทำความเข้าใจผู้ประกอบการขนส่ง เพื่อเน้นย้ำถึงมาตรการป้องกันตามประกาศสาธารณสุข ดังนั้น ให้ขนส่งทุกจังหวัด เร่งดำเนินการประชุมผู้ประกอบการ เพื่อให้ปฏิบัติในแนวทางเดียวกันอย่างเคร่งครัดทั่วประเทศ
นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า ที่ประชุมครม.ยังได้มีการหารือถึงแผนฟื้นฟู บมจ. การบินไทย (THAI) ซึ่งมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ หน่วยงานของกระทรวงคมนาคม คือ บมจ. ท่าอากาศยานไทย (AOT) หรือทอท. กรมท่าอาศยาน (ทย.) และบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย(บวท.) โดยครม.มีข้อสั่งการ แต่จะยังไม่เปิดเผย โดยให้นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม ประชุมร่วมกับทั้ง 3 หน่วยงานต่อไป โดยยึดแนวทางดำเนินการว่าจะต้องถูกต้องตามระเบียบกฎหมาย หากจะมีการช่วยเหลืออย่างไร จะต้องไม่ก่อให้เกิดเป็นภาระกับหน่วยงานภายหลัง
นายศักดิ์สยาม ยังได้มอบหมายให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เร่งจัดทำข้อมูลรูปแบบการจัดตั้ง บริษัทลูก ในการบริหารสินทรัพย์ และแนวทางการบริหารจัดการรถไฟสายสีแดง ซึ่งจะมีในเรื่องของการเดินรถ และการบริหารพื้นที่ โดยจะประชุมติดตามหลังจากเปิดปีใหม่ 64 โดยการบริหารสถานีรถไฟสายสีแดงนั้น มีรูปแบบคล้ายกับอาคารผู้โดยสารของสนามบิน ทอท. ที่นำมาเป็นต้นแบบได้