ส.อ.ท.เปิดผลสำรวจผู้บริหารพร้อมรับมือสถานการณ์โควิด-19 ระบาดรอบ 2

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 31, 2020 17:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจ FTI Poll ในหัวข้อ การรับมือเชื้อไวรัสโควิด-19 รอบที่ 2 ในประเทศไทย โดยผู้บริหาร ส.อ.ท. ส่วนใหญ่ยังคงมีความกังวลมากเกี่ยวกับการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 รอบที่ 2 และมองว่าการลักลอบเดินทางเข้า-ออกประเทศไทยผ่านด่านชายแดนหรือด่านธรรมชาติของทั้งคนไทยและแรงงานต่างด้าว ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดระลอกใหม่ ดังในกรณีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร

นอกจากนี้ ผู้บริหาร ส.อ.ท. ยังเห็นว่า มาตรการกระตุ้นการบริโภคในประเทศ อาทิ คนละครึ่ง, ช้อปดีมีคืน, เที่ยวด้วยกัน, เติมเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เป็นต้น ยังคงเป็นมาตรการที่มีประสิทธิภาพในการช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

จากการสำรวจผู้บริหาร ส.อ.ท. (CEO Survey) จำนวน 163 ท่าน ครอบคลุมผู้บริหารจาก 45 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 74 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด พบว่า ในเรื่องความกังวลต่อการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 รอบที่ 2 ในประเทศไทย ผู้บริหารส่วนใหญ่ร้อยละ 54.6 มีความกังวลมาก, ค่อนข้างกังวล ร้อยละ 31.9, ไม่ค่อยกังวล ร้อยละ 10.4 และไม่กังวลเลย 3.1%

สำหรับสาเหตุความเสี่ยงที่คาดว่าจะทำให้เกิดการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 รอบที่ 2 นั้น ร้อยละ 96.3 มองว่า เกิดจากการลักลอบเดินทางเข้า-ออกประเทศไทยผ่านด่านชายแดนหรือด่านธรรมชาติ รองลงมา ร้อยละ 51.5 เกิดจากการที่ประชาชนไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำด้านสาธารณสุขหรือการจัดกิจกรรมที่มีการรวมตัวกันจำนวนมาก และร้อยละ 15.3 เกิดจากการเปิดให้ชาวต่างชาติและคนไทยเดินทางเข้าประเทศผ่านสนามบิน

ในส่วนความพร้อมของภาคอุตสาหกรรมในการรับมือการระบาดโควิด-19 รอบที่ 2 พบว่า ผู้บริหาร ส.อ.ท. ส่วนใหญ่มีความพร้อมรับมือสถานการณ์อยู่ในระดับมาก ร้อยละ 47.2 และปานกลาง ร้อยละ 47.2 เนื่องจากมีการนำประสบการณ์การรับมือกับการระบาดโควิด-19 ที่ผ่านมา มาปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามในส่วนของปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจไม่สามารถรับมือกับการระบาดโควิด-19 รอบที่ 2 พบว่า ร้อยละ 64.4 มองว่าปัญหาเรื่องคำสั่งซื้อและยอดขายลดลงเป็นปัญหาที่สำคัญของภาคอุตสาหกรรม, รองลงมา ร้อยละ 46.6 ปัญหาในการขนส่งสินค้า และร้อยละ 43.6 เป็นปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน

นอกจากนี้ ในมุมมองของผู้บริหาร ส.อ.ท. ในเรื่อง มาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจของภาครัฐ มาตรการใดที่มีประสิทธิภาพ พบว่า ร้อยละ 67.5 มาตรการกระตุ้นการบริโภคในประเทศ (คนละครึ่ง, ช็อปดีมีคืน, เติมเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ) เป็นมาตการที่มีประสิทธิภาพสูงสุด, รองลงมา ร้อยละ 58.9 มาตรการชำระหนี้, และ ร้อยละ 54.0 เป็น มาตรการลดหย่อนทางภาษี/เลื่อนชำระภาษี สำหรับความคาดหวังของวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่จะมาใช้ในประเทศไทยฟื้นตัวในปีหน้า พบว่า ส่วนใหญ่ยังคงมีความเชื่อมั่นอยู่ในระดับมากถึงมากที่สุด

ทั้งนี้ ผู้บริหาร ส.อ.ท. เน้นย้ำขอให้ภาครัฐดำเนินมาตรการที่เข้มงวด รัดกุม จริงจัง รวมถึง สื่อสารให้ประชาชนรับทราบสถานการณ์และแผนรับมือที่ชัดเจน ตลอดจนขอให้พิจารณาถึงความสมดุลย์ระหว่างการป้องกันและการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้ง การดูแลผู้ประกอบการในเรื่องสภาพคล่องทางการเงิน และการรักษาสภาพการจ้างงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ