นายสุริย จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้เร่งขยายการบริการให้ครอบคลุมส่วนงานด้านข้อมูลการประกอบกิจการโรงงาน โดยมอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) พัฒนาจัดทำและเปิดใช้งานแพลตฟอร์ม iSingleform ขึ้น เพื่อเป็นช่องทางการบริการแจ้งข้อมูลของผู้ประกอบการให้แก่หน่วยงานต่าง ๆ ภายในกระทรวงให้เหลือเพียงแบบฟอร์มเดียวผ่านระบบออนไลน์ โดยกระทรวงอุตสาหกรรมมีเป้าหมายในการเร่งยกระดับการบริการของกระทรวงเข้าสู่ระบบออนไลน์ให้ครอบคลุมในทุกมิติเพื่อขับเคลื่อนการเป็นรัฐบาลดิจิทัล (Digital Government) ขณะเดียวกันปัจจุบันกระทรวงฯ ได้เปิดให้บริการผ่านระบบออนไลน์ในหลายบริการ อาทิ บริการด้านใบอนุญาต บริการยื่นขอมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน และบริการใบแจ้งการชำระค่าธรรมเนียมรายปี ซึ่งจะเป็นการลดภาระผู้ประกอบการในการเดินทางมาติดต่อหน่วยงานราชการ
"การยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทยเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ภาครัฐจำเป็นจะต้องพัฒนาปัจจัยแวดล้อมให้พร้อม อาทิ โครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสารและคมนาคม การปรับกฎระเบียบให้ทันสมัย รวมทั้งการบริการของภาครัฐที่ต้องยกระดับให้สอดคล้องกับการทำงานในยุคชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) ซึ่งมีความคุ้นชินในการทำธุรกรรมออนไลน์โดยไม่ต้องเดินทางไปยังสถานที่ราชการเพื่อขอรับบริการ สามารถแจ้งข้อมูลได้ทุกที่ทุกเวลา
โดยได้ตั้งเป้าหมายให้ผู้ประกอบการโรงงานแจ้งข้อมูลผ่านแพลตฟอร์ม iSingleForm อย่างทั่วถึงและครอบคลุมผู้ประกอบการในทุกขนาดและทุกพื้นที่มากขึ้นเพื่อสนับสนุนการสร้างกรอบตัวอย่าง (Sampling Frame) ที่ทันสมัยและมีมาตรฐานร่วมกัน ช่วยลดการสำรวจข้อมูลที่ซ้ำซ้อนภายในกระทรวงอุตสาหกรรมและสามารถนำข้อมูลไปใช้ในการพัฒนาอุตสาหกรรมในด้านต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ" นายสุริยะ กล่าว
นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวต่อว่า สศอ. ได้เร่งพัฒนาระบบ iSingleForm และเปิดใช้งานให้ผู้ประกอบการได้แจ้งข้อมูลตามแบบฟอร์มเดียวซึ่งได้รวบรวมข้อคำถามจากหน่วยงานต่าง ๆ ภายในกระทรวงฯ ไว้ในแบบฟอร์มเดียวเพื่อลดภาระการแจ้งข้อมูล ไม่ให้เกิดความความซ้ำซ้อน โดยข้อมูลที่ผู้ประกอบการได้แจ้งมาตามแพลตฟอร์ม iSingleForm จะถูกนำมาวิเคราะห์ข้อมูลและจัดทำเป็นผลการประเมินสถานภาพของสถานประกอบการเป็นประจำทุกเดือนตามข้อมูลที่ได้แจ้งเข้ามา ซึ่งจะได้รับผลการวิเคราะห์สถานะของกิจการตนเองในแง่มุมต่าง ๆ อาทิ ประสิทธิภาพการผลิต ความสามารถในการจำหน่าย ความสามารถในการบริหารต้นทุน โดยเปรียบเทียบกับผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมทั้งหมด และในรายสาขาอุตสาหกรรม เพื่อให้ผู้ประกอบการนำผลการวิเคราะห์ไปใช้ประโยชน์
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการที่แจ้งข้อมูลอย่างต่อเนื่องจะได้รับแจ้งสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เช่น สินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยพิเศษจากธนาคารที่ลงนามในบันทึกความเข้าใจร่วมกัน (MOU) กับทาง สศอ. ซึ่งในปัจจุบันมี 2 ธนาคาร คือ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SMEs Bank) และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) ได้รับแจ้งสิทธิการเข้ารับคำปรึกษาเพื่อการพัฒนาสถานประกอบการ และการเข้าร่วมโครงการต่าง ๆ ในการเพิ่มประสิทธิภาพสถานประกอบการโรงงาน