(เพิ่มเติม) ผู้ว่าธปท.ระบุศก.ไทยต้องการนโยบายเชิงกลยุทธเพื่อรับมือความผันผวนของโลก

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 19, 2007 18:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)มองว่า เศรษฐกิจไทยต้องการนโยบายเชิงกลยุทธที่สามารถนำมาใช้เพื่อให้ระบบเกิดการปรับตัวทันทีทันใดในการรองรับความผันผวนของเศรษฐกิจโลก โดยระบบนี้จะต้องเชื่อมโยงกับความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยเกิดความรู้และประสิทธิภาพในการดูแลระบบเศรษฐกิจ
สิ่งที่ผู้กำหนดนโยบายต้องเร่งดำเนินการ 3 ประการในระยะต่อไป คือ การจัดการกับความผันผวน โดยเฉพาะความผันผวนจากการเคลื่อนย้ายเงินทุนโลก , การสร้างความยืดหยุ่นของระบบเศรษฐกิจและการเงิน และ การพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตระยะยาว
นางธาริษา ยังกล่าวในการสัมมนา"แนวโน้มเศรษฐกิจไทยภายใต้สภาวะการเงินโลกที่ผันผวน"เย็นวันนี้ว่า ความท้าทายของเศรษฐกิจไทยในระยะอันใกล้ที่ภูมิภาคเอเชียยังจะดึงดูดเงินทุนต่างประเทศให้ไหลเข้ามาลงทุนนั้น มีทั้งประเด็น hot money, เงินทุนไหลเข้าขนาดใหญ่, แรงกดดันต่อการแข็งค่าของเงินบาท และ ความสูญเสียเสียอิสรภาพในการดำเนินนโยบายการเงิน
สำหรับปัญหาซับไพร์มจะยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่อาจส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจของประเทศสหรัฐในปี 51 ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องติดตามต่อไปอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มที่จะต้องรับความผันผวนที่เกิดขึ้นกับระบบเศรษฐกิจของโลก
ดังนั้น ทิศทางของเศรษฐกิจสหรัฐในระยะต่อไปจะเป็นปัจจัยสำคัญข้อหนึ่งในการกำหนดนโยบายของธปท.ซึ่งจะให้น้ำหนักทั้งภาวะเศรษฐกิจทั้งในและนอกประเทศ เนื่องจากหากเศรษฐกิจนอกประเทศชะลอตัวก็จะมีผลกระทบกับประเทศไทยด้วย โดยเฉพาะในประเด็นปัญหาซับไพร์มที่หากมีผลต่อเศรษฐกิจสหรัฐ ก็อาจทำให้คำสั่งซื้อสินค้าจากตลาดสหรัฐชะลอตัวลง และจะกระทบกับการส่งออกของไทย
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ไทยเองก็ได้กระจายตลาดส่งออกไปยังประเทศในภูมิภาคต่าง ๆ มากขึ้น เพื่อลดการพึ่งพาตลาดสหรัฐที่เป็นตลาดหลัก รวมทั้งภูมิภาคเอเชียเองก็มีการซื้อขายสินค้าระหว่างกันมากขึ้น ซึ่งน่าจะลดแรงกดดันไปได้บ้าง
นางธาริษา กล่าวอีกว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) เป็นเรื่องที่ตลาดคาดการณ์ไว้แล้ว แต่ที่ตัดสินใจลดมากถึง 0.50% แสดงให้เห็นว่าทางการสหรัฐกังวลว่าเศรษฐกิจกำลังจะชะลอตัว ซึ่งจะต้องติดตามว่ามีผลต่อกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายของโลกอย่างไร เพราะปัญหาซับไพร์มอาจทำให้เป็นไปได้ทั้งการที่นักลงทุนจะขายสินทรัพย์ที่ลงทุนในสหรัฐแล้วหันมาลงทุนในเอเชียแทน ขณะเดียวกันก็อาจมีการขายสินทรัพย์ที่ลงทุนในเอเชียไปลงทุนที่อื่นด้วย
ทั้งนี้ การคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในมุมมองของธปท.ขณะนี้คาดว่าเศรษฐกิจในปีนี้จะเติบโตในระดับ 4 - 5% โดยมีการส่งออกเป็นแรงขับเคลื่อนหลัก และหากการเมืองมีความชัดเจนก็จะทำให้การใช้จ่ายและการลงทุนของภาคเอกชนเร่งตัวขึ้น ซึ่งในปี 51 มองว่าเศรษฐกิจจะเติบโตในระดับ 4.5-6.0% อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ในระดับ 2% และเงินบาทยังมีแรงกดดันอยู่

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ