นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 รอบใหม่ ส่งผลกระทบต่อการดำเนินกิจการของผู้ประกอบการ SMEs ทุกกลุ่ม บสย. ได้เร่งดำเนินมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs โดยนำโครงการค้ำประกันสินเชื่อที่ได้รับความเห็นชอบตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) กรอบวงเงินที่ได้รับอนุมัติ รวม 175,000 ล้านบาท เมื่อวันที่ 1 ธ.ค.63 จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการค้ำประกันสินเชื่อ "บสย. SMEs สร้างชาติ" (PGS 9) วงเงิน 150,000 ล้านบาท แบ่งวงเงินค้ำประกันออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก วงเงิน 1 แสนล้านบาท สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ทั่วไป ทั้งรูปแบบนิติบุคคลและบุคคลธรรมดา ส่วนที่ 2 วงเงิน 50,000 ล้านบาท สำหรับผู้ประกอบการกลุ่มเปราะบางที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ
2. โครงการค้ำประกันสินเชื่อ "บสย. Micro ต้องชนะ" (Micro 4) วงเงิน 25,000 ล้านบาท สำหรับผู้ประกอบการรายย่อย อาทิ พ่อค้าแม่ค้า แผงลอย ผู้ประกอบการธุรกิจฐานราก และกลุ่มอาชีพอิสระ มาจัดสรรวงเงินให้ความช่วยเหลือเร่งด่วนในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่แพร่ระบาดระลอกใหม่
โดยล่าสุด บสย.เปิดตัว 6 โครงการค้ำประกันสินเชื่อร่วมกับธนาคารพันธมิตรช่วยเหลือเร่งด่วน จัดสรรวงเงินค้ำประกันสินเชื่อ 100,000 ล้านบาท ครอบคลุมกลุ่มผู้ประกอบการเปราะบาง และผู้ประกอบการ SMEs ทั่วไป ได้แก่ กลุ่มผู้ประกอบการเปราะบาง สู้ภัยโควิด-19 จำนวน 2 โครงการ คือ
1.โครงการ "บสย. SMEs ไทย สู้ภัยโควิด" ฟรีค่าธรรมเนียมค้ำประกัน 2 ปี วงเงินค้ำประกันสินเชื่อรายละ 2 แสนบาท - 20 ล้านบาท ระยะเวลาค้ำประกัน 10 ปี วงเงินจัดสรร 5,000 ล้านบาท MAX CLAIM สูงสุด 35%
2.โครงการ "บสย. รายย่อยไทย สู้ภัยโควิด" ฟรีค่าธรรมเนียมค้ำประกัน 3 ปี วงเงินค้ำประกันสินเชื่อต่อราย 1 หมื่นบาท - 1 แสนบาท ระยะเวลาค้ำประกัน 10 ปี วงเงินจัดสรร 5,000 ล้านบาท MAX CLAIM สูงสุด 40%
"ทั้ง 2 โครงการ ถือเป็นโครงการเร่งด่วนที่จะเข้าไปช่วยผู้ประกอบการเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ตามประกาศพื้นที่เสี่ยงของ ศบค. โดย บสย. จะเปิดรับคำขอค้ำประกันสินเชื่อถึงวันที่ 31 มกราคม 2564 นี้" นายรักษ์ กล่าว
ส่วนกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ทั่วไป จำนวน 4 โครงการ ฟรีค่าธรรมเนียมค้ำประกัน 2 ปี ระยะเวลาค้ำประกันสินเชื่อ 10 ปี คือ
1.โครงการ "บสย. SMEs ดีแน่นอน" วงเงินค้ำประกันต่อราย ตั้งแต่ 2 แสนบาท - 100 ล้านบาท วงเงินจัดสรร 20,000 ล้านบาท
2. โครงการ "บสย. SMEs บัญชีเดียว" วงเงินค้ำประกันต่อราย ตั้งแต่ 2 แสนบาท - 100 ล้านบาท วงเงินจัดสรร 5,000 ล้านบาท
3. โครงการ "บสย. SMEs ที่ได้รับสินเชื่อหนังสือค้ำประกัน (LG)" วงเงินค้ำประกันต่อราย ตั้งแต่ 2 แสนบาท - 100 ล้านบาท วงเงินจัดสรร 2,000 ล้านบาท
4. โครงการ "บสย. รายย่อย ทั่วไป" วงเงินค้ำประกันต่อราย ตั้งแต่ 1 หมื่นบาท - 5 แสนบาท วงเงินจัดสรร 3,000 ล้านบาท
นายรักษ์ กล่าวว่า ทั้ง 6 โครงการ บสย. จะรับความเสี่ยงตั้งแต่ 20-40% ทั้งนี้ ยังได้กำหนดหลักเกณฑ์เงื่อนไข การรับความเสี่ยงระหว่าง บสย. กับธนาคาร เช่น เกณฑ์การเคลม โดยกำหนดสัดส่วนการรับความเสี่ยงแบบร่วมกัน Sharing ระหว่าง บสย. และธนาคาร ในสัดส่วน 70% : 30% กรณีที่ธนาคารยื่นเคลมก่อนระยะเวลาที่กำหนด ทั้งนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้ธนาคารได้เข้ามามีบทบาทในการช่วยดูแลลูกหนี้ในด้านต่างๆ อาทิ การปรับโครงสร้างหนี้ จัดหนี้ หรือปรับปรุงเงื่อนไขให้ยืดหยุ่น เพื่อช่วยลูกหนี้ให้ไปรอด และมีกระแสเงินสดเพียงพอ
ขณะเดียวกัน ในด้านการดำเนินงานโครงการ "บสย. SMEs รายย่อยทั่วไป" ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ที่ประสบปัญหาการเข้าถึงแหล่งทุน ต้องพึ่งเงินทุนนอกระบบ จากการที่ธนาคารเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งในส่วนนี้ บสย. มีนโยบายส่งเสริมให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อ เพื่อให้ SMEs ลดการใช้เงินกู้นอกระบบ โดย บสย. ได้ขยายวงเงินค้ำประกันสินเชื่อ จากเดิมสูงสุดไม่เกิน 200,000 บาทต่อราย เป็น 500,000 บาทต่อราย และรับความเสี่ยงค้ำประกันสินเชื่อเต็มจำนวน 100% เพื่อให้ บสย. เป็นเครื่องมือและกลไกสำคัญในการค้ำประกันสินเชื่อช่วยผู้ประกอบการ SMEs อย่างเต็มประสิทธิภาพ ทั้งนี้ บสย. ยังได้ร่วมค้ำประกันสินเชื่อในโครงการ Soft Loan Plus ของธนาคารแห่งประเทศไทย วงเงิน 55,000 ล้านบาท และโครงการ บสย. SMEs ไทยชนะ วงเงิน 5,000 ล้านบาท
ด้านสถาบันการเงิน ให้ความสนใจร่วมลงนามพร้อมปล่อยสินเชื่อเพื่อช่วยผู้ประกอบการ SMEs ทั้งกลุ่มเปราะบางและกลุ่ม SMEs ทั่วไป ประกอบด้วย
- โครงการค้ำประกันสินเชื่อ "บสย. SMEs สร้างชาติ" (PGS9) จำนวน 7 ธนาคาร ได้แก่ 1. ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย 2. ธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย จำกัด 3. ธนาคารกรุงไทย 4. ธนาคารออมสิน 5. ธนาคารกสิกรไทย 6. ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด 7. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
- โครงการค้ำประกันสินเชื่อ "บสย. Micro ต้องชนะ" (Micro 4) จำนวน 7 ธนาคาร และ 1 ลิสซิ่ง ได้แก่ 1.ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย 2. ธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย จำกัด 3.ธนาคารกรุงไทย 4.ธนาคารออมสิน 5.ธนาคารกสิกรไทย 6. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร 7.ธนาคารทิสโก้ 8.บริษัท ไฮเวย์ จำกัด
"บสย. และสถาบันการเงินพันธมิตร มีความห่วงใยและอยากช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ระลอกใหม่ จึงเร่งจัดสรรวงเงินค้ำประกันสินเชื่อให้ครอบคลุมมากที่สุด โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่ต้องเร่งให้ความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ขณะที่ผู้ประกอบการ SMEs ทั่วไปก็มีความต้องการยืด ลด หด และ ขยายหนี้ (DR) และมีผู้ประกอบการ SMEs ที่ต้องการปรับโครงสร้างหนี้ (TDR) ต้องการเติมเงินทุนใหม่ เพื่อพยุงธุรกิจและต้องการหลุดพ้นปัญหาหนี้นอกระบบ โดยผู้ประกอบการสามารถยื่นคำขอรับบริการการค้ำประกันสินเชื่อผ่านสถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป" นายรักษ์กล่าว