นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ในช่วงต้นปี 2564 มีโครงการลงทุนที่จะนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขออนุมัติ ได้แก่ ส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีชมพู (ช่วงแคราย-มีนบุรี) จากสถานีศรีรัช-เมืองทองธานี ระยะทาง 3 กม. จำนวน 2 สถานี มีวงเงินลงทุน 3,379 ล้านบาท และแผนฟื้นฟูองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ซึ่งได้เสนอไปที่เลขาฯครม. แล้ว และคาดว่า ในเดือนม.ค. -มี.ค. จะมีการเสนอ โครงการมอเตอร์เวย์ สายบางขุนเทียน - บ้านแพ้ว ระยะทาง 15 กม. เอง มูลค่า 20,000 ล้านบาทซึ่ง ผ่านการพิจารณาจากสภาพัฒน์แล้ว โดยใช้เงินกองทุนมอเตอร์เวย์ก่อสร้าง
และการลงทุนแบบ PPP โครงการต่อขยายทางยกระดับอุตราภิมุข (ดอนเมืองโทลล์เวย์) ช่วงรังสิต - บางปะอิน ระยะทาง 18 กม. เงินลงทุน 39,956 ล้านบาท โครงการทางพิเศษกะทู้ - ป่าตอง จ.ภูเก็ต ระยะทาง 3.98 กม. มูลค่า 1.4 หมื่นล้านบาท ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.)
สำหรับ มอเตอร์เวย์ (M8) สาย นครปฐม - ชะอำ ระยะทาง 109 กม. วงเงินลงทุน 79,006 ล้านบาทนั้น จะแบ่งการลงทุนช่วงแรกจากนครปฐม - เพชรบุรี ก่อน เนื่องจากไม่ติดปัญหาเรื่องเวนคืน ซึ่งคาดว่าจะเสนอครม.ได้ภายในปีนี้
ส่วนรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 จำนวน 7 เส้นทาง จะมีการประชุมร่วมกับผู้อำนวยการสำนักงบประมาณในวันที่ 8 ม.ค. คาดว่าจะมีความชัดเจนในการดำเนินโครงการ โดยจะรอรับฟังนโยบาย ในการจัดทำงบประมาณปี 2565 ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะมีการประชุม ในวันที่ 5 ม.ค.นี้ก่อน
สำหรับนโยบายปี 2564 จะมีการสานต่อนโยบายจากปี 2563 จำนวน 7 เรื่องเพื่อให้นำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม ได้แก่ 1.เร่งผลักดันการปรับเวลาเดินรถบรรทุก 10 ล้อขึ้นไป เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรและปัญหามลพิษในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล 2.เร่งจัดทำ Taxi Application เพื่อทดแทนเครื่องบันทึกข้อมูลการเดินทางของระบบ Taxi 3. เร่งพัฒนาระบบตั๋วร่วมให้สามารถใช้บัตรโดยสารเชื่อมโยงรถไฟฟ้าทุกระบบ
4.เร่งรัดพัฒนาการบริการรถ ขสมก. และการนำระบบบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ (E-ticket) มาใช้อย่างเต็มรูปแบบ ที่ผ่านมามีปัญหาเรื่องการลงทุนปรับซอฟต์แวร์ ซึ่งล่าสุดได้มีการหารืออย่างไม่เป็นทางการกับสถาบันการเงินแห่งหนึ่ง ที่จะเข้ามาลงทุนวงเงิน200-300 ล้านบาท โดยจะมีการลงนาม MOU ในไตรมาสที่ 2 เพื่อเริ่มดำเนินการคาดว่าจะเริ่มเห็นระบบตั๋วร่วมเป็นรูปธรรมในปี 64 และจะขยายให้ครอบคลุมทุกระบบขนส่ง
5.เร่งพัฒนาระบบรถไฟทางคู่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งทางราง 6. เร่งผลักดันการขนส่งสินค้าทางน้ำจากท่าเรือบางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ไปท่าเรือแหลมฉบัง 7.เร่งพัฒนาท่าอากาศยานภูมิภาคเป็นศูนย์รวบรวมผลผลิตและกระจายสินค้าเกษตร หรือสินค้าเน่าเสียง่ายออกสู่ตลาด
นอกจากนี้ ในปี 2564 จะมีการผลักดัน 11 งานในเชิงรุกได้แก่ 1. ศึกษาแผนแม่บทโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง หรือมอเตอร์เวย์ กับโครงการรถไฟทางคู่ ระยะทางกว่า 6,000 กิโลเมตรทั่วประเทศ (MR-MAP) เพื่อวางแผนการพัฒนามอเตอร์เวย์ให้สอดคล้องไปกับการขยายโครงข่ายรถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูงทั่วประเทศ ซึ่งจะลดปัญหาการเวนคืนที่ดินซ้ำซ้อน ส่งเสริมการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาคอย่างเป็นระบบ และบูรณาการโครงข่ายการขนส่งสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพ โดยขณะนี้ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จะลงนามในสัญญา โดยใช้เงินกองทุนมอเตอร์เวย์ในการศึกษา
โดยแผนแม่บท MR-MAP มี จำนวน 8 เส้นทาง ประกอบด้วย แนวเหนือ-ใต้ ระยะทางรวม 2,620 กม. ได้แก่ 1. เชียงราย-สงขลา 1,660 กม. 2. หนองคาย-แหลมฉบัง 490 กม. 3. บึงกาฬ-สุรินทร์ 470 กม. แนวตะวันออก-ตะวันตก ระยะทางรวม 2,380 กม. ได้แก่ 1. ตาก-นครพนม 710 กม. 2. กาญจนบุรี-อุบลราชธานี 830 กม. 3. กาญจนบุรี-สระแก้ว 310 กม. 4. กาญจนบุรี-ตราด 220 กม. 5. ชุมพร-ระนอง 120 กม. 6. ภูเก็ต-สุราษฏร์ธานี 190 กม.
ทั้งนี้เห็นว่า แนวเส้นทางที่เหมาะสมในการผลักดันก่อน เช่น ชุมพร-ระนอง ซึ่งเป็น Land Bridge , เส้นทางกาญจนบุรี-ตราด สามารถเชื่อมอีอีซี และหนองคาย-แหลมฉบัง ซึ่งมีแนวเส้นทางรถไฟเดิมอยู่ สามารถเชื่อมต่อโลจิสติกส์ได้
2. ศึกษาแผนโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน หรือ Land Bridge โดยการพัฒนามอเตอร์เวย์ควบคู่กับรถไฟทางคู่ เชื่อมโยงระหว่างท่าเรือน้ำลึกที่จังหวัดชุมพร กับจังหวัดระนอง วงเงิน 68 ล้านบาท ขณะนี้ สนข.ได้ทำทีโออาร์ในการศึกษาออกแบบคาดว่าจะลงนามสัญญาจ้างได้ในไตรมาส 2 ปี64 จะศึกษาเสร็จในปี 64 ขณะที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะมีการออกแบบรถไฟทางคู่ (ชุมพร-ระนอง) กรอบวงเงิน 90 ล้านบาท ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อลดเวลาและต้นทุนการขนส่งสินค้า เชื่อมต่อระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้กับการขนส่งและโลจิสติกส์ของทวีปเอเชีย ตะวันออกกลาง และยุโรป ทำให้ประเทศไทยไทยกลายเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางน้ำของภูมิภาคในอนาคต
3. ตั้งศูนย์จัดจำหน่ายและกระจายสินค้า OTOP เพื่อส่งเสริมธุรกิจ การตลาด และ เปิดช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้า ในพื้นที่สถานีขนส่ง สถานีรถไฟ สถานีรถไฟฟ้า และท่าอากาศยาน ก่อให้เกิดการกระจายรายได้ กระตุ้นเศรษฐกิจจากฐานราก รวมถึงอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น 4. การบริหารพื้นที่เพื่อสาธารณประโยชน์ โดยนำพื้นที่ของรฟท. การทางพิเศษแห่งประเทศไทย มาปรับภูมิทัศน์ จัดพื้นที่ใช้สอยให้เกิดประโยชน์
5. ผลักดันการใช้เทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV สำหรับใช้ในระบบขนส่งสาธารณะ เช่น รถโดยสารไฟฟ้า เรือโดยสารไฟฟ้า และการนำระบบ EV พลังงาน Battery on Train มาใช้กับรถไฟไทย เพื่อประหยัดพลังงาน ลดมลพิษ ส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม และยกระดับรถขนส่งสาธารณะไฟฟ้า
6. ศึกษาและกำหนดแนวทางการใช้รถไฟฟ้าล้อยาง ในการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนหลักในภูมิภาค ซึ่งจะประหยัดงบประมาณ ค่าก่อสร้างและลงทุนต่ำลง สามารถกำหนดค่าโดยสารในอัตราไม่แพง สำหรับคนในภูมิภาค 7. พัฒนาระบบขนส่งมวลชนขนาดรอง หรือ Feeder เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางจากย่านธุรกิจหรือชุมชนต่าง ๆ เข้าสู่ระบบรถไฟฟ้าหลัก อำนวยความสะดวกในการเดินทางจากบ้านไปถึงยังจุดที่หมายปลายทาง ส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งมวลชนมากขึ้น และลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล เพื่อการแก้ปัญหาการจราจรอย่างยั่งยืน
8. เร่งรัดการเปิดให้บริการโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงและสถานีกลางบางซื่อ โดยพร้อมเปิดให้บริการแก่ประชาชนอย่างเต็มรูปแบบในปี 2564 เพื่อเชื่อมโยงการเดินทางจากใจกลางเมืองสู่ปริมณฑลและภูมิภาคต่างๆ ของประเทศได้อย่างสะดวกรวดเร็ว โดยมีสถานีกลางบางซื่อ เป็นศูนย์กลางการเดินทางด้วยระบบรางยุคใหม่ที่ทันสมัยเทียบเท่าสถานีรถไฟฟ้าชั้นนำของโลก
9. แก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดบนทางด่วน โดยผลักดันใช้ระบบ M-Flow ยกเลิกไม้กั้นซึ่งจะเริ่มในไตรมาส 2/64 และขยายผลครอบคลุมทั้งโครงข่ายแต็มรูปแบบในปี 2565 โดยทำการปรับปรุงโครงข่ายทางทางพิเศษและมอเตอร์เวย์จำนวน 4 เส้นทาง ได้แก่ 1. มอเตอร์เวย์ช่วงศรีนครินทร์ - สุวรรณภูมิ 2. ถนนประเสริฐมนูกิจ-งามวงศ์วาน 3. ทางด่วนขั้นที่ 1 ต่างระดับอาจณรงค์ และ 4. ทางด่วนขั้นที่ 1 ช่วงสะพานพระราม 9 - พระราม 2 เพื่อลดความแออัด และเพิ่มทางเลือกในการเดินทางให้แก่ประชาชน
10. แก้ปัญหาการจราจรในจังหวัดภูเก็ต โดยบูรณาการโครงข่ายทางพิเศษสายกะทู้- ป่าตอง ระยะทาง 3.98 กม. ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ซึ่งกรมป่าไม้ ได้อนุญาตให้ใช้พื้นที่ป่าไม้ 3 แปลง แล้วจะสามารถเสนอครม.ได้ในกลางปี 64 และก่อสร้าง 3 ปี และโครงข่ายทางหลวงแนวใหม่ สายเมืองใหม่ - เกาะแก้ว ระยะทาง 22.4 กม. ของกรมทางหลวง ซึ่งกำลังศึกษาเปรียบเทียบความคุ้มค่าและเหมาะสม ระหว่างรูปแบบก่อสร้างเป็นถนนปกติกับมอเตอร์เวย์ เพื่อเชื่อมโยงการเดินทางท่องเที่ยวจากท่าอากาศยานจังหวัดภูเก็ต จังหวัดกระบี่ จังหวัดพังงา เข้าสู่ตัวเมืองภูเก็ตได้อย่างสะดวกรวดเร็ว
11. วางระบบติดตามโครงการขนาดใหญ่ เพื่อบูรณาการการบริหาร สั่งการติดตามผล และแก้ไขปัญหาในการดำเนินการโครงการขนาดใหญ่ เช่น ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน -นครราชสีมา ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางใหญ่ - กาญจนบุรีโครงข่ายรถไฟทางคู่ และรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ ? นครราชสีมา ครอบคลุม 4 มิติ ได้แก่ มิติการประชาสัมพันธ์ มิติการเร่งรัดการก่อสร้าง มิติการบริหารจราจร และมิติการบริหารพื้นที่ร่วมกับโครงการอื่น เพื่อให้การดำเนินโครงการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และลดผลกระทบต่อประชาชน
สำหรับการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่จะมีผลต่อการดำเนินงานในปี 64 อย่างไรหรือไม่ นายศักดิ์สยาม กล่าวยอมรับว่า อาจจะส่งผลต่องบประมาณในปี 64 บ้างแต่ในส่วนของโครงการต่างๆ ยังคงเป็นไปตามแผนงาน แต่การบริหารงบในแต่ละโครงการอาจจะมีการปรับบ้าง ขึ้นกับนโยบาย ซึ่งช่วงปี 2563 รัฐบาลได้บริหารงบประมาณบางส่วนไปใช้สำหรับแก้ปัญหาโควิด ซึ่งงบปี 64 ผ่านการอนุมัติและกลั่นกรองปละประกาศพ.ร.บ.งบประมาณแล้ว เดินหน้าต่อ แต่หากมีความจำเป็น วงเงินกู้รัฐมีไม่เพียงพอ ต้องปรับลดงบมาช่วย จะให้หน่วยงานพิจารณาลดเนื้องานลงบางส่วน ทั้งนี้ ยังมั่นใจว่าจะไม่มีปัญหา เชื่อว่ารัฐบาลจะบริหารกำหนดมาตรการในการป้องกันการแพร่ระบาดได้
"เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่อาจจะมีปัจจัยที่แปรเปลี่ยนไป หากใช้หลักในการแก้ที่ต้นเหตุ เชื่อว่าจะแก้ไขได้ รวมถึงการใช้มาตรการที่เข้มข้นแค่ไหนด้วย เนื่องจากแต่ละเรื่องมีผลกระทบที่ต่างกัน"
อย่างไรก็ตาม ได้กำหนดเป้าหมายการบริหารงบปี 64 ภายในเดือนธ.ค.63 ให้ประกาศทีโออาร์จัดซื้อจัดจ้างให้หมด และลงนามให้ครบภายในเดือนม.ค. 64 และโครงการผูกพันลงนามสัญญาในเดือนมี.ค.64