(เพิ่มเติม) ธปท.ผ่อนคลายให้นิติบุคคลต่างประเทศทำธุรกรรมเงินบาทในประเทศคล่องตัวขึ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 5, 2021 18:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

(เพิ่มเติม) ธปท.ผ่อนคลายให้นิติบุคคลต่างประเทศทำธุรกรรมเงินบาทในประเทศคล่องตัวขึ้น

นางสาววชิรา อารมย์ดี ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.ผ่อนคลายให้นิติบุคคลต่างประเทศสามารถทำธุรกรรมเงินบาทกับสถาบันการเงินในประเทศ (onshore) ได้คล่องตัวขึ้น ภายใต้โครงการ Non-resident Qualified Company (NRQC) โดยนิติบุคคลต่างประเทศต้องมีภาระการรับหรือจ่ายเงินบาทจากการค้าและการลงทุนโดยตรงในประเทศไทย และไม่ประกอบธุรกิจด้านการเงินและทองคำ ซึ่งผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับประโยชน์ ดังนี้

1. สามารถบริหารความเสี่ยงค่าเงินบาทได้สะดวกและคล่องตัวขึ้น โดยไม่ต้องแสดงเอกสารหลักฐาน และมีขอบเขตการทำธุรกรรมที่กว้างขึ้น เช่น การทำธุรกรรม Swap หรือ Forward ด้วยการใช้ประมาณการรายรับรายจ่ายในอนาคต หรือใช้งบการเงินโดยรวม (balance sheet hedging)

(เพิ่มเติม) ธปท.ผ่อนคลายให้นิติบุคคลต่างประเทศทำธุรกรรมเงินบาทในประเทศคล่องตัวขึ้น

2. สามารถบริหารสภาพคล่องเงินบาทได้คล่องตัว โดยไม่จำกัดยอดคงค้างบัญชีเงินบาทสำหรับผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ (Non-resident Baht Account : NRBA) จากเดิมจำกัดยอดคงค้างไว้ไม่เกิน 200 ล้านบาท

ทั้งนี้ โครงการข้างต้นจะทำให้นิติบุคคลต่างประเทศสามารถทำธุรกรรมเงินบาทกับสถาบันการเงินในประเทศได้สะดวกมากขึ้น ส่งผลให้ความจำเป็นในการกู้ยืมเงินบาทลดลง ธปท. จึงได้ปรับลดวงเงินคงค้างการปล่อยสภาพคล่องเงินบาทของสถาบันการเงินในประเทศแก่บุคคลที่มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศแบบไม่มีภาระซึ่งจะช่วยสนับสนุนการทำธุรกรรมในประเทศภายใต้โครงการ NRQC อีกด้วย

การดำเนินการดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันให้เกิดระบบนิเวศตลาดอัตราแลกเปลี่ยนใหม่ (FX ecosystem) ผ่านการปรับโครงสร้างการทำธุรกรรมเงินบาทในประเทศ ซึ่งจะเพิ่มทั้งจำนวนผู้ทำธุรกรรม โดยเฉพาะนิติบุคคลต่างประเทศ และสภาพคล่องของตลาดอัตราแลกเปลี่ยนในประเทศ รวมถึงเอื้อต่อการติดตามข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

น.ส.ภาวิณี จิตต์มงคลเสมอ ผู้อำนวยการฝ่ายตลาดการเงิน ธปท.กล่าวถึงปัญหาเชิงโครงสร้างในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนของไทยว่า ประกอบด้วย 4 ปัญหาสำคัญ คือ 1. การที่ไทยมีการลงทุนต่ำ ภาคเอกชนไทยลงทุนน้อย ทั้งลงทุนในประเทศและลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งจากข้อมูลจะพบว่าการลงทุนของภาคเอกชนลดลงอย่างมากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยลดลงจากกว่า 20% ของ GDP ในปี 53 ลงมาเหลือไม่ถึง 10% ของ GDP ในปี 62 ในขณะที่ภาครัฐเองช่วงระยะ 10 ปี มีการลงทุนอยู่ในระดับ 6% ของ GDP

ทั้งนี้ การลงทุนในระดับต่ำ ย่อมทำให้มีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูง โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูงถึง 8% ของ GDP ในขณะที่มีเงินออกไปลงทุนในต่างประเทศอยู่ในระดับต่ำเพียง 4% ของ GDP จึงเพิ่มแรงกดดันให้บาทแข็งค่า

"ถ้าเราลงทุนในประเทศน้อย แปลว่าเราจะนำเข้าเครื่องจักรมาผลิตสิ่งต่างๆ น้อยลง เป็นสาเหตุหนึ่งทำให้เราเกินดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่องมาตลอด ช่วง 5 ปีนี้เราเกินดุลบัญชีเดินสะพัดเฉลี่ย 8% ซึ่งการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูง ไม่ใช่สิ่งไม่ดี แต่ต้องดูสาเหตุว่าการเกินดุลมาจากอะไร เช่น ค้าขายดี หรือการใช้จ่ายน้อย ไม่มีการลงทุนเพื่อเพิ่มศักยภาพในการผลิตเท่าที่ควร"น.ส.ภาวิณี ระบุ

อย่างไรก็ดี ยอมรับว่าการที่คนไทยไปลงทุนในต่างประเทศน้อย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะหลักเกณฑ์การลงทุนระหว่างประเทศที่ค่อนข้างจะเอื้อกับการเข้ามาลงทุนมากกว่าการออกไปลงทุน ซึ่งอาจเป็นเพราะบทเรียนจากอดีตในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจปี 40 ดังนั้นจึงเป็นแผนที่ ธปท.จะต้องมีการปรับปรุงกฎเกณฑ์การลงทุนในส่วนนี้

"ยอมรับว่าเป็นเพราะหลักเกณฑ์ของเราด้วย ที่ในช่วงบทเรียนปี 40 ที่เรารู้สึกว่าอาจจะอยากเก็บเงินไว้ข้างใน กลัวว่าเงินไหลออกมา ค่าเงินจะอ่อน ดังนั้นหลักเกณฑ์การลงทุนระหว่างประเทศของเราจึงเอื้อกับขาเข้า แต่เข้มกับขาออก ซึ่งปัจจุบันสถานการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป แต่หลักเกณฑ์อาจจะไม่ทันต่อสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง" น.ส.ภาวิณีกล่าว

2. ผู้ประกอบการไทยรองรับความผันผวนของค่าเงินได้น้อย ซึ่งมีสาเหตุจากความไม่คุ้นเคยกับธุรกรรม การเข้าถึงบริการที่ยังทำได้จำกัด โดยปัจจุบันพบว่ามีผู้ประกอบการที่ป้องกันความเสี่ยงจากค่าเงินเพียง 19% ของมูลค่าการส่งออก และเพียง 24% ของมูลค่าการนำเข้า

3. ต้นทุนสูงในการทำธุรกรรมอัตราแลกเปลี่ยน ตัวอย่างเช่น ค่าธรรมเนียมการแลกเงิน และโอนเงินของไทยอยู่ที่ 6.6% ของมูลค่าธุรกรรม ในขณะที่ประเทศอื่นในภูมิภาคมีค่าธรรมเนียม 2-4% ของมูลค่าธุรกรรม ขณะเดียวกันผู้ให้บริการธุรกรรมด้านอัตราแลกเปลี่ยนยังจำกัดอยู่ในกลุ่มธนาคารพาณิชย์เป็นส่วนใหญ่ถึง 99% ขณะที่กลุ่มนอนแบงก์ที่ให้บริการด้านนี้ยังมีน้อยมาก ดังนั้นเมื่อผู้ให้บริการมีจำกัด จึงทำให้ผู้ประกอบการไม่ได้รับบริการที่หลากหลาก อีกทั้งยังมีต้นทุนสูง

4. ธุรกรรมเงินบาทในตลาดต่างประเทศมีผลต่อค่าเงินสูง โดยตลาด offshore ที่มีขนาดใหญ่ ทำให้ความผันผวนของตลาดการเงินโลกส่งผลต่อค่าเงินบาทได้มากขึ้น ซึ่งจะพบว่า 85% ของการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินบาทรายวัน เป็นการเคลื่อนไหวตามทิศทางสกุลเงินต่างประเทศ

น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท.กล่าวว่า ปัญหาใน 4 เรื่องดังกล่าว ถือวเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนของไทย และแม้ปัญหาเหล่านี้จะต้องใช้เวลานานในการแก้ไข แต่ก็ต้องเริ่มทำความเข้าใจ และเร่งแก้ไขพร้อมกันอย่างเป็นรูปธรรมตั้งแต่วันนี้

เป้าหมายของ ธปท.ในการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างที่กล่าวมานั้น คือ ต้องการทำให้คนไทยลงทุนได้ง่ายขึ้น ผู้บริหารสามารถบริหารอัตราแลกเปลี่ยนได้อย่างคล่องตัว มีการแข่งขันกันมากขึ้นในส่วนของผู้ให้บริการธุรกรรมอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อให้มีต้นทุนที่ต่ำลง และสามารถรู้เท่าทันความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยนได้มากขึ้น

สิ่งที่ ธปท.ได้ทยอยดำเนินการไปแล้ว เช่น การเปิดให้ฝากเงินตราต่างประเทศได้เสรี (บัญชี FCD) 2.ปรับหลักเกณฑ์การลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ 3.การให้ลงทะเบียนแสดงตัวตนเพื่อซื้อขายตราสารหนี้ และล่าสุดวันนี้ คือการผ่อนคลายหลักเกณฑ์ให้นิติบุคคลต่างประเทศสามารถทำธุรกรรมเงินบาทกับสถาบันการเงินในประเทศได้คล่องตัวขึ้น ทั้งนี้ เพื่อช่วยลดผลกระทบจากความผันผวนของค่าเงินบาทที่เกิดจากการทำธุรกรรมในต่างประเทศ โดยช่วยให้ NRQC สามารถทำธุรกรรมเงินบาทกับสถาบันการเงินในประเทศได้คล่องตัวขึ้น เพิ่มจำนวนผู้ทำธุรกรรม และสภาพคล่องของตลาดอัตราแลกเปลี่ยนในประเทศ รวมถึงเอื้อต่อการติดตามข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ส่วนนโยบายที่จะดำเนินการเพิ่มเติมในระยะต่อไป เช่น ยกเลิกภาระการแสดงเอกสาร เพื่อให้สามารถบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนได้อย่างเสรี, สนับสนุนเงินทุนขาออกเพื่อให้เงินทุนมีความสมดุล, ลดการรายงานธุรกรรมที่ไม่สำคัญ/ขนาดเล็ก, ขยายขอบเขตการให้บริการของนอนแบงก์ให้ใกล้เคียงกับธนาคารพาณิชย์มากขึ้น และปรับเกณฑ์ให้รองรับบริการทางการเงินรูปแบบใหม่

ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจภาคส่วนต่างๆ จะต้องมีการปรับตัวด้วย เช่น ภาครัฐและเอกชนจะต้องลงทุนมากขึ้น เพื่อช่วยลดการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด และยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย, ผู้นำเข้า-ผู้ส่งออกต้องปรับตัวให้พร้อมรองรับกับความผันผวนของตลาดที่เพิ่มขึ้นในอนาคต และนักลงทุนสถาบันควรเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในต่างประเทศเพื่อกระจายความเสี่ยงและเพิ่มผลตอบแทนให้มากขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ